ความเห็นแก่ตัว ทุนนิยม และความเหลื่อมล้ำคงไม่ใช่ประเด็นใหม่ของซีรีส์เกาหลี เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว Squid Game เคยสร้างปรากฏการณ์เมกะฮิตจนผลงานที่ว่าด้วยประเด็นเหล่านี้มักถูกด้อยค่าเสมอ เช่นเดียวกับ The 8 show ที่นอกจากมีประเด็นใกล้กันแล้วเนื้อหายังว่าด้วยเกมเหมือนกันไปอีก จนเหมือนเป็นผลงานขั้นเวลาก่อน Squid Game ซีซัน 2 จะมาในปีนี้ แต่หากมองในรายละเอียด The 8 Show กลับชัดเจน ตรงประเด็น และโหดร้ายกว่า แม้จะมีเลือดน้อยกว่า Squid Game ก็ตาม
The 8 Show คือซีรีส์ตลกร้ายที่สร้างจากเว็บตูนเรื่อง Money Game และ Pie Game ว่าด้วยเรื่องราวของแบจินซู (รยูจุนยอล) ชายหนุ่มที่พลาดท่าถูกหลอกให้ลงทุนจนกลายเป็นหนี้ก้อนโต ขณะที่เขากำลังจะจบชีวิตตัวเองก็มีรถลิมูซีนมารับและยื่นข้อเสนอให้เขาเข้าร่วมในเกมที่มีเงินรางวัลมหาศาล จากนั้นก็พาไปในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีห้องแปดห้องอยู่ต่างชั้นกัน แต่ละห้องมีหน้าจอแสดงเงินรางวัลที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละนาที และโทรศัพท์ที่ใช้ซื้อของอะไรก็ได้แต่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 100 เท่า จนเช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ได้พบกับผู้เข้าร่วมอีก 7 คน และเริ่มเรียนรู้ว่าภารกิจในเกมนี้คือการสร้างเกมให้สนุกสนานถ่ายทอดสดผ่านกล้องวงจรปิดที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้ชม ยิ่งเกมสนุกมากเท่าไรก็จะยิ่งได้เวลาเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือยิ่งอยู่ในเกมได้นานเท่าไรก็ยิ่งได้เงินมากขึ้นเท่านั้น
ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเกมง่ายๆ แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าคนในแต่ละชั้นได้เงินรางวัลต่อนาทีไม่เท่ากัน อีกทั้งสภาพของห้องพักและทรัพยากรที่ได้ก็แตกต่างกัน ความตึงเครียดก็เริ่มขึ้น แรกทีเดียวมีความพยายามจัดสรรทรัพยากรเท่าๆ กัน แต่สันดานดิบก็ค่อยๆ เผยความเห็นแก่ตัวออกมา ส่วนเกมที่เล่นก็ค่อยๆ ล้ำเส้นขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อดึงดูดผู้ชม โดยมีกฎว่าห้ามมีคนตาย แต่ถึงอย่างนั้นความวิปริตในเกมก็ไม่ได้ลดลงเลย ที่สำคัญมันคือเกมที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดขึ้นเองทั้งสิ้น
The 8 Show ตั้งใจเสียดสีทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำในสังคมในปัจจุบันอย่างชัดเจน ด้วยฉากในเกมที่เป็นห้องที่ต่างกัน 8 ชั้นลดหลั่นกันลงมา รวมทั้งเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบฉากไม่มีสิ่งไหนเป็นของจริงเลย สะท้อนภาพทุนนิยมที่คนพยายามไขว่คว้าสิ่งต่างๆ ทั้งๆ ที่บางครั้งก็ไม่มีประโยชน์ หรือแม้แต่การว่าด้วยเวลาก็เหมือนล้อเลียนชีวิตการทำงานในปัจจุบัน แม้จะทุกข์ทรมานแต่เราก็ยังดิ้นรนให้ได้เวลาเพิ่มเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต แต่เมื่อได้เงินมามากก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นด้วยอย่างที่ผู้เล่นในเกมต้องจ่ายเงินซื้อของมากกว่าราคาท้องตลาดถึง 100 เท่า
ผู้เล่นทั้ง 8 ยังสะท้อนบุคลิกของคนแต่ละชนชั้นในสังคมตั้งแต่ชั้น 1 (แบซองอู) ที่เป็นเหมือนผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ยินยอมแบกรับชะตากรรมจนเหมือนจะชินชา ชั้น 2 (อีจูยอง) คือคนที่อยากลุกขึ้นมาต่อต้านความอยุติธรรมที่ความฝันก็พังทลายทุกที ชั้น 3 คือชนชั้นกลางที่พยายามไม่ตกต่ำหรือโดดเด่นเกินไป ชั้น 4 (อียอลอึม) คนที่อยู่เป็น เอาตัวรอดและพยายามไต่ระดับชั้นทางสังคม ชั้น 5 (มุนจองฮี) คนที่เห็นความผิดปกติทุกอย่างแต่ก็ไม่มีปากมีเสียง ชั้น 6 (พัคแฮจุน) คนที่ใช้ชนชั้นของตัวเองหาประโยชน์จากคนที่ต่ำกว่า ชั้น 7 (พัคจองมิน) ชนชั้นหัวกะทิที่พยายามจัดสรรทรัพยากรเพื่อคงสถานะทางสังคม และชั้น 8 (ชอนอูฮี) คนรวยที่คิดถึงแต่ความสุขของตัวเอง
The 8 Show ยังจำลองภาพความเป็นจริงของสังคมว่าหากจัดสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรมทุกอย่างก็น่าจะราบรื่น แต่สุดท้ายความเป็นมนุษย์ก็เลือกที่จะเอาตัวรอดและหาวิธีเอารัดเอาเปรียบอยู่ดี ซึ่งมีให้เห็นในหลายๆ ฉาก อย่างเช่นชั้น 1 ที่ยอมเก็บสิ่งปฏิกูลของชั้นอื่นๆ ซึ่งแรกๆ คนอื่นก็อาจรู้สึกผิดแต่พอนานเข้าก็ปล่อยเลยตามเลย หรือชั้น 8 ที่เป็นตัวแทนของคนรวย ได้รับทรัพยากรเป็นด่านแรกและได้มากกว่าคนอื่น จนกลายเป็นข้อต่อรองเพื่อฉีกกฎเกณฑ์ทุกอย่าง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องแม้อำนาจของกลุ่มจะเปลี่ยนมือไปมา แต่ชั้น 8 ก็ไม่เคยต้องได้รับโทษแบบจริงๆ จังๆ สักที เหมือนกับคำที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน
ช่วงครึ่งแรกของซีรีส์เราจะได้เห็นว่ากฎของเกมง่ายๆ ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแล้วค่อยๆ เข้มข้นขึ้น ซึ่งสะท้อนความแตกต่างเรื่องจุดยืนของแต่ละคน ทั้งเรื่องเซ็กซ์ ความรุนแรง เหยียดหยามผู้ที่อ่อนแอกว่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ จากคนดู แต่คือสันดานดิบยิ่งสถานการณ์เลวร้ายเท่าไร ความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนก็เปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น
“เราใช้ชีวิตรอดแต่ละวันด้วยการแลกด้วยเลือดและความเจ็บปวดกับเงินและเวลา ผ่านแต่ละวันแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดของกันและกันจนคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” ห้วงความคิดของแบจินซูหรือชั้น 3 คือบทสรุปของทั้งเรื่องราวในเกมและชีวิตจริงๆ ของสังคมปัจจุบัน
เอาเข้าจริงคุณค่าความเป็นมนุษย์ตัวละครถูกลดทอนตั้งแต่เข้าไปอยู่ในเกมโดยใช้ชื่อชั้นของห้องแทนชื่อจริงๆ อีกทั้งที่มาที่ไปก็ไม่ถูกเล่ายกเว้นชั้น 3 ที่เป็นเหมือนตัวแทนของคนดู แต่จุดร่วมที่เหมือนกันคือทั้ง 8 คนคือผลลัพธ์ของความล้มเหลวในระบบทุนนิยม ทั้งผู้กำกับที่อยากทำงานที่ดีแต่ขายไม่ได้ สาวผู้มีความฝันเป็นไอดอลแต่อนาคตจบลงที่ลานจอดรถ หัวหน้าครอบครัวที่เป็นที่พึ่งของครอบครัวไม่ได้ หรือภรรยาผู้หาความอบอุ่นทางใจขณะที่สามีวิ่งตามความสำเร็จ ฯลฯ
อีกสิ่งที่โดดเด่นมากของ The 8 Show คืองานด้านภาพที่เหมือนได้แรงบันดาลใจมาจากเว็บตูนด้วยการใส่กราฟิกเข้ามาด้วย และการเลือกเปลี่ยนขนาดภาพให้มีความแคบกว่าปกติช่วงที่เล่าพื้นฐานตัวละครแต่ละตัว สื่อสารถึงความกดดัน และยังแยกการเล่าเรื่องในอดีตจากความเป็นจริงในปัจจุบันได้อีกด้วย
สรุปแล้ว The 8 Show เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่น่าสนใจ แม้จะมีหลายๆ องค์ประกอบที่ทำให้นึกถึง Squid Game แบบช่วยไม่ได้ แต่ในท้ายที่สุดก็มีบทสรุปเฉพาะตัวที่ว่าด้วยวิถีทางทุนนิยมที่ไขว่คว้าเงินตราและความสำเร็จจนเผยให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์