×

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 เริ่มสร้างในปี 2023 เชื่อมอุบลฯ กับละคอนเพ็ง

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2020
  • LOADING...
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6

วานนี้ (20 ตุลาคม) เวียงจันทน์ ไทม์ส สื่อท้องถิ่นของ สปป.ลาว รายงานว่า สปป.ลาว และไทยกำลังวางแผนเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 ในปี 2023 เชื่อมระหว่างแขวงสาละวัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 670 กิโลเมตร และจังหวัดอุบลราชธานีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย



สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 6 จะช่วยยกระดับการค้าและการลงทุนชายแดน และส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศทันทีที่ก่อสร้างเสร็จสิ้น โดย ลิตตา ขัตติยะ จากสำนักงานโยธาธิการและการขนส่ง สังกัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของ สปป.ลาว เผยว่ามีการสรุปผลสำรวจและแบบสะพานแล้ว

 

ลิตตากล่าวว่า รัฐบาล สปป.ลาว และไทยเห็นพ้องอนุมัติแบบสะพานแล้ว หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2023 และจะแล้วเสร็จในปี 2025 โดยเงินทุนก่อสร้างจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ของไทย ด้วยการช่วยเหลือแบบให้เปล่าและกู้ยืม



ทั้งนี้ สะพานความยาว 1.02 กิโลเมตร จะเชื่อมทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ในเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวันของ สปป.ลาว กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2112 ในอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานีของไทย โดยสะพานแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับทางตอนใต้ของ สปป.ลาว แต่ยังเชื่อมโยงไปยังเวียดนามกลาง และทำหน้าที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจสำหรับทั้งภูมิภาคด้วย



ขณะเดียวกัน สะพานแห่งนี้จะช่วยเร่งความพยายามของรัฐบาลในการเปลี่ยน สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงแผ่นดินภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเร่งให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยแขวงสาละวันจะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบทันทีที่สะพานเปิดให้สัญจร



อนึ่ง ปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างไทยและ สปป.ลาว รวม 4 แห่ง ขณะที่โครงการก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5 ซึ่งเชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และจะใช้เวลาสร้าง 3 ปี

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising