ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.ไทยคม หรือ THCOM วันนี้ (8 กันยายน) แรงเก็งกำไรแผ่วลงจากวานนี้ หลังจากที่ THCOM ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าวันนี้ว่า บริษัทยังไม่ได้รับหนังสือหรือเอกสารใดจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด โดยหากมีความชัดเจนหรือได้รับทราบในรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว บริษัทจะชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป
โดยวานนี้ราคาปิดการซื้อขายที่ 12 บาท เพิ่มขึ้น 1.60 บาท หรือ 15.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นที่ 1,772.67 ล้านบาท
ขณะที่วันนี้ (เวลา 14.38 น.) ราคาหุ้นอยู่ที่ 11.60 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 3.33% มูลค่าการซื้อขาย 352.35 ล้านบาท
วานนี้ (7 กันยายน) ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามสัญญากิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ รายละเอียดดังนี้
- กรณีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ INTUCH ถือหุ้นใน THCOM ไม่ต่ากว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดีอีเอส ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2019
- INTUCH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ THCOM ปัจจุบันถือหุ้นแค่ 41% ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า จะต้องถือไม่ต่ำกว่า 51% ในขณะที่ INTUCH มีกลุ่มเทมาเส็กและสิงเทลของสิงคโปร์ถือหุ้นค่อนข้างมาก โครงสร้างนี้ควรได้รับการแก้ไขให้สัดส่วนการถือหุ้น INTUCH ใน THCOM ต้องไม่ต่ำกว่า 51% และผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ INTUCH ไม่ควรเป็นต่างชาติ เนื่องจากดาวเทียมเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศไทย
- ครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2004 ลดสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH ใน THCOM จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่ INTUCH และ THCOM ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร
ประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกด้านจิตวิทยาทันทีต่อราคาหุ้น THCOM จากการคาดว่า INTUCH จะต้องกลับมาซื้อหุ้น THCOM เพิ่มอีก 10% (จาก 41.14% ไปเป็น 51%) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบดังต่อไปนี้
- THCOM เพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับ INTUCH
- INTUCH เปิดรับซื้อหุ้น THCOM จากผู้ถือหุ้นรายอื่นของ THCOM ทั้งหมด
ทั้งนี้ มองว่าว่า INTUCH อาจใช้เงินสดในมือบางส่วนบวกกับกู้เพิ่มบางส่วนเพื่อนำมาซื้อหุ้น THCOM แต่กว่าจะไปถึงขั้นตอนตรงนั้น INTUCH และ THCOM ต้องตัดสินใจก่อนว่าจะเห็นด้วยกับมติ ครม. ข้างต้นหรือไม่ โดยมี 2 ทางเลือก ได้แก่
- ถ้าเห็นด้วยกับมติ ครม. ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการกลับไปถือหุ้นใน THCOM เพิ่มอีก 10%
- ถ้าไม่เห็นด้วยกับมติ ครม. ก็จะนำไปสู่ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตฯ ระหว่าง INTUCH กับกระทรวงดีอีเอส และอีก 2 ชั้นศาลถัดไป
โดยให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่ INTUCH และ THCOM จะยึดตามมติ ครม. ข้างต้นเนื่องจากเป็นผลประโยชน์ร่วมที่ THCOM จะได้เข้าไปบริหารงานดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 หลังสิ้นสุดสัมปทานให้กับ NT ซึ่ง THCOM จะมีรายได้จากการรับช่วงต่อในการเข้าไปบรหิารงานหลังสิ้นสุดสัมปทาน
จึงยังแนะนำ ‘ซื้อเก็งกำไร’ ที่ราคาเป้าหมาย 13.40 บาท เนื่องจากมูลค่าเพิ่มที่จะมาจากความร่วมมือกับ NT หลังสิ้นสุดสัมปทาน และการได้ใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมของ กสทช. ในปี 2022
“นักลงทุนเองก็คาดหวังในเชิงที่ว่า INTUCH จะตอบรับมติ ครม. ทำให้มีแรงกำไรหุ้น THCOM เมื่อวานนี้ค่อนข้างมาก แต่ในข้อเท็จจริงแล้วก็ต้องดูท่าทีของ INTUCH ด้วยว่าจะยอมรับมติ ครม. หรือไม่ ถ้ารับและดำเนินการเพิ่มสัดส่วนหุ้น THCOM ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการกำหนดวิธีการ และประเมินมูลค่าเหมาะสมของ THCOM และหากไม่รับก็ต้องสู้ในชั้นศาล ซึ่งก็กินเวลายาวนานเหมือนกัน”
ฝ่ายวิจัยโนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า กรณีที่ INTUCH อาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น THCOM อีกอย่างน้อย 10% คิดเป็นจำนวนหุ้นราว 108 ล้านหุ้นจากปัจจุบันที่ถือหุ้น THCOM เพื่อให้เป็นตามแนวทางของมติ ครม.
และหากอิงตามจำนวนหุ้นที่ต้องถือเพิ่มกับปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ THCOM ในช่วงปีนี้ ประเมินว่าจะต้องใช้เวลา 5 วันทำการสะสมหุ้น ในมุมมองของเราให้น้ำหนัก INTUCH พิจารณาสะสมหุ้น THCOM ตามคำสั่ง แต่จะขอผ่อนผันไม่ทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) กับ กลต.
ทั้งนี้ หากใช้สมมติฐานจากราคาตลาด THCOM ที่ 12.0 บาท เราคาด INTUCH ต้องใช้เงินอย่างน้อย 1.30 พันล้านบาท แต่ไม่กระทบต่อฐานะการเงินของ INTUCH ที่เป็น Net Cash Company มีเงินสดในมืออยู่แล้วราว 2.2 พันล้านบาท
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การถือ THCOM เพิ่มไม่มีนัยต่อ INTUCH แต่ไม่สร้างประโยชน์ที่ชัดเจนเช่นกัน ส่วน THCOM จะได้ Sentiment บวกที่จำกัด แต่ความชัดเจนด้านทรัพย์สินสัมปทานที่โอนให้รัฐฯ คาดว่าจะช่วย THCOM กำหนดแนวทางกับ NT หลังสัมปทานสิ้นสุดราบรื่น แต่สะท้อนในหุ้นไปแล้ว
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์โดยระบุว่า การที่ ครม. มีมติให้ INTUCH กลับไปถือหุ้น THCOM 51% เป็นไปตามสัญญาสัมปทานแรกสุด (11 กันยายน 2564) ที่มีการระบุให้ INTUCH (SHIN ในขณะนั้น) เป็นผู้รับสัมปทาน ต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการ และถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ซึ่งต่อมาคือ THCOM (ชินวัตรแซทเทลไลท์ ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน) และทาง INTUCH รักษาสัดส่วนดังกล่าวมาตลอด แม้จะมีการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 18 มกราคม 2537
จนกระทั่งมีการพัฒนาโครงการ iPSTAR ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และบริษัทเล็งเห็นว่าน่าจะต้องมีการเพิ่มทุน ทำให้วันที่ 24 ธันวาคม 2546 THCOM มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีที ขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของ INTUCH ลงเหลือไม่ตํ่ากว่า 40% มีการหารือระหว่างกระทรวงไอซีทีและอัยการสูงสุดหลายครั้ง จนได้รับการอนุมัติในวันที่ 27 ตุลาคม 2547
บล.ยูโอบีฯ ระบุว่า การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในเบื้องต้นเป็นไปเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจจะมีความมั่นคงในการดำเนินการและปฏิบัติตามสัญญากับรัฐได้ ดังนั้นการมีคำสั่งให้ INTUCH กลับไปถือหุ้น 51% (จาก 41.13%) จึงดูไม่มีความจำเป็น อีกทั้งเป็นการสั่งก่อนสัมปทานจะหมดอายุเพียง 3 วัน (10 กันยายน 2564) ในกรณีที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว