×

บาทแข็งอย่าตกใจ! ผู้เชี่ยวชาญมองเศรษฐกิจฟื้น แนะเอกชนป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

20.11.2017
  • LOADING...

     เงินบาทแข็งค่าเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากความล้มเหลวในการผลักดันการลดภาษีรายได้นิติบุคคลของสหรัฐอเมริกาไม่เป็นไปตามเป้า

     อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์ เช้าวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 นี้ อยู่ที่ 32.857 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าต่ำกว่า 33 บาทครั้งแรก ในรอบ 2 ปี 6 เดือน หลังจากค่าเงินสหรัฐอเมริกาอ่อนค่าลงอีก เนื่องจากนโยบายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยหาเสียงเอาไว้เรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เป็น 20% ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้

     ซึ่งอุปสรรคสำคัญ คือ มาตรการในการตัดค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยกับรายได้ภาษีที่จะหายไปด้วยการปรับปรุงเรื่องประกันสุขภาพ ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับตัวเลขของเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาล่าสุด อยู่ที่ 2% และมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมนี้ ทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐ และถือสินทรัพย์อื่นแทน ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย

     ‘พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล’ ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบันประกอบไปด้วยปัจจัยภายนอกซึ่งมีผลจากประเด็นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก แต่สิ่งที่น่าติดตามคือปัจจัยภายในประเทศไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแต่ตัวเลขการส่งออกก็ยังเติบโต สะท้อนให้เห็นว่าตลาดฟื้นตัวชัดเจนโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวซึ่งเป็นผลดีกับผู้ประกอบการไทย และเมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นก็จะชดเชยกับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน

     ภาคส่วนที่น่าเป็นห่วงคือสินค้าเกษตรเนื่องจากลักษณะสินค้าของเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคล้ายกันมาก และยังคงแข่งขันด้วยราคาเพียงอย่างเดียว เช่น ข้าว มันสำปะหลัง หรือยางพารา ซึ่งอาจทำให้ยอดการส่งออกลดลงได้

     ในปี 2560 นี้ มองว่า ภาคเอกชนยังบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกันน้อย เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ มองว่าเป็นต้นทุน หรือคาดการณ์ว่าทิศทางค่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลง ซึ่งเมื่อค่าเงินแข็งขึ้นสวนทางแบบนี้ก็จะส่งผลกระทบได้ จึงควรบริหารความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ สัญญาออปชันต่างๆ ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีบริการอยู่แล้ว แม้จะมีต้นทุนอยู่บ้าง แต่ก็ถืออว่าคุ้มค่ากับธุรกิจ แนะนำอย่าเก็งกำไรค่าเงินในช่วงนี้ เพราะทิศทางค่าเงินยังผันผวนและควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X