วันนี้ (20 มกราคม) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเร่งด่วน คือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำให้แท้งลูก เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ก่อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผล คือภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อประโยชน์ต่อสิทธิและความปลอดภัยของสตรี
ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัยและไม่มีความผิด และสอดคล้องกับแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การกำหนดอายุครรภ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญมาก
ซึ่งวันนี้สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างปรับปรุงแก้ไข มาตรา 301 ซึ่งมีการกำหนดอายุครรภ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง คือไม่เกิน 12 สัปดาห์ และร่างปรับปรุงแก้ไข มาตรา 305 เพิ่มเหตุยกเว้นให้ครอบคลุมและชัดเจน เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีที่ผู้กระทำไม่มีความผิดใน 5 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
- มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทางกาย หรือสุขภาพทางจิตของหญิงผู้ตั้งครรภ์
- มีความเสี่ยงผิดปกติของทารกในครรภ์
- ตั้งครรภ์โดยมีเหตุจากการกระทำผิดทางเพศ
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
- อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ซึ่งผ่านการรับคำปรึกษา และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
“การแก้ไขกฎหมายประเด็นการยุติการตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้หญิงอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ละเลยต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมว่า ข้อจำกัดทางกฎหมายไม่ได้ทำให้ความต้องการในการยุติการตั้งครรภ์ลดลง แต่ก่อให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้หญิง เจตนารมณ์ในการแก้ไขกฎหมายนี้ จึงเป็นไปเพื่อเป็นทางออกด้านนิติบัญญัติ ให้สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัยและไม่มีความผิด เพื่อสอดคล้องกับแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ผู้ไม่พร้อมจริงๆ ได้เข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือก หรือการรับบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้หญิงไทยทุกคน” ธณิกานต์กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์