×

ธานี ยืนยัน กมธ. ในอดีตไม่มีอำนาจชี้ขาด แค่มีหน้าที่ศึกษารวบรวมหลักฐาน ขออย่าอคติว่าช่วยเหลือ บอส อยู่วิทยา

โดย THE STANDARD TEAM
29.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (29 กรกฎาคม) ธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงกรณี วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส เคยยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ. ในคดีขับรถยนต์ชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ โดยประมาทถึงแก่ความตายว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ธนิต บัวเขียว ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้มายื่นขอความเป็นธรรมในประเด็นว่า คำสั่งของรองอัยการสูงสุดที่ให้ยุติเรื่องการขอความเป็นธรรม โดยไม่นำเอาข้อเท็จจริงในส่วนของคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญและรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาสั่งคดีนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงใช้ช่องทางมาร้องต่อ กมธ. ขอให้สอบถามข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเร็วรถในขณะเกิดเหตุ ทาง กมธ. เห็นว่าจึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สนช. เพื่อตรวจสอบตามระเบียบ

 

ต่อมาศูนย์ดังกล่าวได้รับเรื่องและพิจารณาเห็นว่าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กมธ. การกฎหมายฯ และไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะ กมธ. ชุดอื่น จึงส่งเรื่องกลับมาให้พิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ

 

ทาง กมธ. จึงมีมติรับเรื่องไปสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คน คืออดีตรองอัยการสูงสุด  อธิบดีอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ พยาน 2 ปาก และพยานแวดล้อม 2 ปาก จากนั้นได้ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสภาพความเสียหายและคำนวณความเร็วของรถ โดยได้ส่ง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์มาทำการตรวจสอบ และส่งผลการตรวตสอบกลับมายัง กมธ. จากนั้นได้รวบรวมผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งไปยังอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

 

ยืนยันว่าการดำเนินการของ กมธ. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 ม.13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ให้ สนช. ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการมีความเห็นอย่างไร ธานีกล่าวว่า ตามอำนาจของ กมธ. ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูก เพราะเราไม่ใช่อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต. ที่จะวินิจฉัยได้ เรามีหน้าที่แค่เสนอผลการศึกษา คำชี้แจงของผู้มาชี้แจง การศึกษาเรื่องการคำนวณความเร็วรถของผู้เชี่ยวชาญ โดยนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเท่านั้น

 

เมื่อถามว่าผลการศึกษาเรื่องความเร็วไม่ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช่หรือไม่ ธานีกล่าวว่า เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ เมื่อคนในองค์กรถึงแก่กรรม ก็ต้องเร่งดำเนินการ และได้มีการสอบเพิ่มเติมหลังจากมีการร้องกับ สนช. ทางอัยการสูงสุดได้สั่งให้สอบเรื่องความเร็วว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เจ้าพนักงานจึงไปทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาระดับนายพลจากความเร็วเดิม 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงคือ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะมาชี้แจงอีกครั้งกับ กมธ. ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดร.สายประสิทธิ์ ที่เป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นสมาชิก ASEAN NCAP ในรายงานของ กมธ. ที่เสนอไปให้อัยการคือ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดไม่นำข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่งยืนยันว่าความเร็วรถเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ธานีกล่าวว่า ไม่มีคนยื่นคำร้องมา แต่ทาง กมธ. ได้เชิญสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ยศ พ.ต.ท. ซึ่งทำคดีมาจำนวนมากมาให้ความเห็นด้วย ซึ่งยืนยันว่าจากความเสียหาย ความเร็วไม่น่าจะเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

“วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือที่สุด พยานบุคคลยังกลับไปกลับมา ถ้าสงสัยสื่อก็ต้องไปหาความรู้ หาแหล่งอ้างอิงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้กับประชาชนว่าวิธีการสืบหาข้อเท็จจริง โดยที่ว่าเราไม่ได้จินตนาการ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่การกระทำความผิดไม่เลือกวัย ไม่เลือกความจน ความรวย ทุกคนมีโอกาสทำความผิดกันหมด แต่ข้อเท็จจริงถ้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วศาลจะเชื่อถือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าบุคคล” ธานีกล่าว

 

เมื่อถามถึงพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวทั้งที่คดีดังกล่าวผ่านมา 7 ปี ธานีกล่าวว่า อย่าจินตนาการแบบนี้ อีก 7 วันทางอัยการก็จะรวบรวมหลักฐาน พยาน เพื่อชี้แจง แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยตรวจสอบว่ามีเหตุผลหรือไม่ อัยการและตำรวจมีหน้าที่พิจารณามูลเหตุว่าเพียงพอฟ้องหรือไม่ และอัยการเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามอำเภอใจ หรืออัยการก็ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ หรือไม่ใช่พนักงานส่งอาหารที่มาอย่างไรก็ส่งไปอย่างนั้น เขามีดุลยพินิจในการวินิจฉัย ถ้าใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจก็จะติดตัวเขาไปจนตาย ตรงนี้ฝากสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนบ้าง ขอให้สื่อใจเย็น และให้สติปัญญากับประชาชน อย่าเร่งเร้า ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลนลานไปหมด

 

ธานียืนยันว่า คณะ กมธ. มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งหรือก้าวก่าย และพนักงานอัยการจะนำผลการศึกษาของ กมธ. ไปใช้สั่งสำนวนไม่ได้ แต่หากอัยการสงสัย ก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนในประเด็นนั้นๆ เพิ่มเติม และไม่มีการตัดสินชี้ถูกชี้ผิด

 

ถามต่อว่า ทำไม กมธ. ถึงเรียกพยาน 2 ปาก ซึ่งอัยการตีตกพยานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว ธานีกล่าวว่า มีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของวรยุทธว่า การไม่ฟังพยาน 2 ปากนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม

 

นักข่าวยังถามอีกว่า สมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตัวของตระกูลอยู่วิทยา และอดีต ส.ว. เคยร่วมทำงานกับ พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ใน กมธ. การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ปี 2551 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ กมธ. กฎหมาย สนช. ปี 2557 ซึ่ง พล.ร.อ. ศิษฐวัชร เป็นประธาน ธานีกล่าวว่า เท่าที่ทราบ ธนิต บัวเขียว คือทนายความที่รับมอบอำนาจให้มายื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว ส่วนจะเป็นตัวแทนสมัครหรือไม่ ไม่ทราบ ตั้งแต่ตนเป็น กมธ. ยืนยันไม่เคยเจอสมัคร

 

นอกจากนี้ธานียังระบุอีกว่า กรณี พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และอดีต สนช. ออกมาเปิดเผยว่า ในชั้น กมธ. ได้ตีตกเรื่องนี้ไปแล้วนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ สนช. มีงานเยอะ พล.ต.ท. ศานิตย์ จึงอาจสับสนได้ และย้ำว่า กมธ. ไม่เคยชี้ขาด พร้อมยืนยันว่าไม่มีการทำความเห็นให้อัยการส่งสำนวนไปยังตำรวจเพื่อทบทวนอีกครั้ง

 

ธานียอมรับว่าผลการศึกษาเรื่องความเร็วของ กมธ. ตรงข้ามกับหลักฐานเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นที่สงสัยของตนและ กมธ. เช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้มาร้องเรียนหลังเจ้าพนักงานทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชา และตัวผู้เชี่ยวชาญที่มาศึกษาก็มีความรู้ความสามารถทำคดีมาหลายคดี มีต้นทุนทางสังคม

 

ส่วนสภาพของรถที่หลายคนสันนิษฐานว่ายับเยินมากกว่าความเร็วที่ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ธานีชี้แจงว่า จากรายงานให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องมวลของรถเฟอร์รารีที่หนัก และรถมอเตอร์ไซค์มีมวลรถที่เบา ส่วนหากวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าวแล้วทำไมวรยุทธถึงมองไม่เห็น ลากร่างผู้เสียชีวิตถึง 200 เมตรนั้น อาจมีรถกระบะมาบังจึงมองไม่เห็นคนที่ถูกชน และมีการสันนิษฐานเป็นสองประเด็นคือ รถเบรกแล้วแต่ไม่มีรอย เพราะด้วยประสิทธิภาพของรถหรู หรือมีความเป็นไปได้ว่าไม่เบรก 

 

ส่วนเรื่องยาเสพติดในตัววรยุทธไม่มีการร้องเรื่องนี้เข้ามา ดังนั้น กมธ. จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ

 

เมื่อถามย้ำว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือไม่ ธานีกล่าวว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องมาที่ สนช. และจากบันทึกของตำรวจ วรยุทธได้มีการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้ตายไปแล้ว อีกทั้งญาติก็ไม่ได้ร้องว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา ถามว่าจะให้สอบประเด็นอะไร เท่าที่ดูข่าวเขาก็ได้รับค่าเสียหายไปแล้วจริงและไม่ติดใจ ที่สำคัญทางญาติก็ไม่ได้นั่งรถไปกับผู้เสียชีวิตและเห็นเหตุการณ์ หากไม่เรียกมาจะถือว่า กมธ. ผิด อย่าอคติกับ กมธ. ว่าช่วยวรยุทธ เพราะไม่รู้จะช่วยไปทำไม ยืนยันว่า กมธ. ให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย

 

“ผมอยากจะเตือนสติสังคมว่า ไปย้อนดูว่ามีกี่สื่อ กี่ฉบับ ที่เมื่อศาลพิพากษาแล้วหรือยกฟ้อง แล้วมีคนตกเป็นจำเลยตามที่สื่อเสนอ แล้วสื่อไปขอโทษด้วยจิตวิญญาณของวิชาชีพ เขาเสียหายขนาดไหน อยากจะเตือนสติไว้บ้างว่าเราเองขายข่าวได้เป็นประเด็น แต่ต้องมีสติ ให้สังคมได้พัฒนา หยิบเอาประเด็นมาเป็นจินตนาการแบบนั้นแบบนี้ เมื่อเขาพิสูจน์ได้ก็เงียบไป ไม่เห็นมีสื่อไหนถือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา ขอเถอะ ขอให้มีสติ ให้สังคมพัฒนาขึ้น ปฏิรูปสื่อสักที” ธานีกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามทิ้งทายว่า เรื่องนี้มีการโยงไปถึง พล.ร.อ. ศิษฐวัชร ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการจินตนาการใช่หรือไม่ ธานีกล่าวว่า คงอย่างนั้น อย่าไปผูกโยงว่าคนตระกูลนี้ผิดไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ก็อย่าเหมารวม เพราะไม่เป็นธรรม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X