×

“เราให้อิสระที่เขาจะเลือกชีวิตตัวเอง ให้โอกาสทดลองว่าอะไรดีหรือไม่ดี” พ่อในแบบ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์

05.12.2019
  • LOADING...

“เราให้อิสระที่เขาเลือกชีวิตตัวเอง ให้โอกาสทดลองว่าอะไรดีหรือไม่ดี สำคัญที่สุดคือต้องมีความสุขอยู่บนทางที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น”

 

ย้อนกลับไปในปี 2560 ชื่อของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งหลังจากเขามีผลงานการแสดงถึง 2 เรื่องในปีนั้นคือ ป๊อปอาย มายเฟรนด์ และ ฉลาดเกมส์โกง ที่นอกจากจะโด่งดังในระดับกระแสทั้งในไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบทบาท ‘อ.ประวิทย์’ พ่อของของลินที่เขาแสดงนั้น ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดในฐานะพ่อได้อย่างโดดเด่น 

 

เช่นเดียวกับล่าสุดในปีนี้ ธเนศได้รับบทบาทพ่อที่เข้มข้นอีกครั้งในภาพยนตร์ โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง และเรามองว่าการจะรับบทบาท ‘พ่อ’ ได้ในระดับนี้ ประสบการณ์และทัศนคติในฐานะ ‘พ่อ’ ในชีวิตจริงของเขาเองก็เป็นอีกแง่มุมที่เหมาะควรจะเข้าไปทำความรู้จัก ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของการพูดคุยระหว่างธเนศและ THE STANDARD POP ที่เขาเคยบอกเล่าถึงวิธีการเลี้ยงลูกในแบบที่ไม่ต้องฉลาด ไม่ต้องโกง ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็ได้ แต่แก่นสารที่สำคัญที่สุดคือ ‘มีความสุข’ บนทางที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น

 

 

ตัวละคร ‘อ.ประวิทย์’ (พ่อของลิน) ใน ฉลาดเกมส์โกง เชื่อมโยงกับคุณในแง่ไหนบ้าง    เราเล่น ฉลาดเกมส์โกง เป็นเรื่องที่ 2 หลังจากถ่าย ป๊อปอาย มายเฟรนด์ ผ่านไปเกือบปี ทีมงาน ฉลาดเกมส์โกง ก็โทรมา เราได้คุยกับทั้งบาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับ คุยกับโปรดิวเซอร์ คุยกับฝ่ายแคสติ้ง คุยกับแอ็กติ้งโค้ช ซึ่งทุกคนก็สนใจอยากให้เล่น เราบอกเขากลับไปว่าต้องขอดูบทหน่อย ตอนแรกทีมงานให้บทมาเฉพาะในส่วนของเรา แต่อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ เลยบอกเขาว่าขอเข้าใจทั้งหมดได้ไหม คุยกันอยู่ตั้งนาน เพราะบทภาพยนตร์มันเป็นความลับ ถ้าอย่างนั้นเรายินดีที่จะเซ็นสัญญาให้ว่าจะเก็บเป็นความลับ แต่ขออ่านหน่อยเถอะ 

 

เราบอกเขาไปตามความจริงว่าอาจจะเล่นไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่นักแสดงอาชีพ แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถอะไรมากมาย แต่เราใช้วิธีธรรมชาติ คือทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นๆ ฉะนั้นถ้าเมื่อไรก็ตามที่เข้าใจแล้ว เราก็จะเป็นสิ่งนั้นไปเลย พอบอกไปแบบนี้เขาถึงได้ยอมให้อ่านบท

 

พอได้อ่านบทแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ อ่านจนกระทั่งถึงประโยคสุดท้ายเราก็บอกกับตัวเองว่าต้องเล่นเรื่องนี้ เพราะมันเป็นบทที่ดี และรู้สึกว่าประเทศไทยควรพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ผมหมายถึงเรื่องของการโกง เราน่าจะใช้โอกาสนี้เป็นส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์บ้างออกไปสู่ผู้คน

 

ที่พูดไปเมื่อกี้คือบทหนังโดยรวม ส่วนบทที่เราต้องเล่นเป็น ‘พ่อ’ ซึ่งถ้าในบทที่อ่าน เขาเป็นพ่อที่บอกลูกว่า “ลูกต้องเป็นคนดีนะ อย่าโกงใครนะลูก มันบาปกรรมนะ” แบบนั้นเราก็คงไม่เล่น (หัวเราะ) แต่ตัวละครนี้มันดันเป็นพ่อที่ไม่ได้บอกอะไรกับลูกมากมาย แต่เขาทำให้ลูกเห็นเอง แล้วไม่ได้ตั้งใจทำอย่างเท่ๆ เพราะตัวพ่อเขาก็มีความไม่ได้เรื่องอยู่พอสมควร ไม่ได้เป็นพ่อที่ดีเลิศประเสริฐศรี ซึ่งดีแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือสุดท้ายแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนเป็นพ่อก็รับได้ เข้าใจ และให้โอกาสลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจ

 

พอหนังฉาย ฟีดแบ็กออกมาดี คำวิจารณ์ออกมาดี เราเริ่มสังเกตว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วมันก็ได้คำตอบบางอย่างกลับมาว่า นี่คือพ่อในฝัน เป็นพ่อในอุดมคติ เรารู้สึกนะว่ามันเป็นพ่อตัวอย่างของคนส่วนใหญ่ในวันนี้ด้วยซ้ำ นั่นแปลว่าคนไทยยังต้องการคนแบบนี้ และประเทศเรายังขาดคนแบบนี้อยู่ คนที่ไม่ใช่คนดีเด่อะไรมากมาย ไม่ได้รวย งานการก็ไม่ได้ดีอะไร เขาเป็นครูชั้นผู้น้อย เงินเดือนเท่าไรก็ไม่รู้ มีรถเก่าๆ บ้านเก่าๆ เสื้อผ้ายับๆ ถึงมีเปียโนก็เป็นเปียโนเก่าๆ ทุกอย่างเก่า เมียก็ทิ้งไปแล้ว พูดกับลูกสาวก็ไม่ใช่จะพูดว่าลูกจ๊ะ ลูกจ๋า …ทะเลาะกับลูกก็มี แต่เมื่อลูกเกิดปัญหา เขาก็พร้อมจะอยู่ข้างๆ ลูก ไม่ซ้ำเติมลูก ให้อภัย เข้าใจ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน แค่นี้แหละ! คนเป็นพ่อเป็นแม่ทำแค่นี้ก็พอแล้ว บางทีเราดันไปทำกันเยอะกว่านั้น คิดว่าเยอะๆ แล้วจะดี สุดท้ายมันทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย พ่อในเรื่องนี้มันมีดีเทลหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราสนใจ

 

 

ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ในชีวิตจริงล่ะสอนลูกตัวเองอย่างไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากตัวละครในหนังขนาดไหน

ระหว่างเรากับลูกมันยังไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงใหญ่โตอะไรเกิดขึ้นนะ เราก็เลยไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่โดยพื้นฐานเรามีความตั้งใจอยู่แล้วที่จะเลี้ยงลูกไปในแนวทางนี้

 

ในหนัง ฉลาดเกมส์โกง จะเห็นว่าพ่อปล่อยลูกเยอะเลย ลูกสาวก็หน้าตาดี เรียนเก่ง แต่อาจเป็นเพราะว่าลูกฉลาด พ่อก็เลยมั่นใจว่าลูกสาวไม่โง่แน่นอน คงไม่มีทางโดนผู้ชายหลอก ผู้ชายต่างหากที่น่าจะโดนลูกสาวเราหลอกด้วยซ้ำไป

 

แต่กับลูกเราเองที่เป็นผู้ชาย เราปล่อยเขานะ อย่างเช่นลูกขอไปนอนบ้านเพื่อน ซึ่งตอนนั้นมันอายุสิบกว่าขวบเท่านั้นเอง เราก็ให้ไปเลยนะ แต่แค่ถามเฉยๆ ว่าไปนอนบ้านใคร มีใครไปบ้าง เรารู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกอยู่แล้ว เราก็เลยต่างคนต่างฝากฝังกัน แต่เราก็จะถามให้เป็นนิสัย เขาก็จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องประหลาดอะไรที่พ่อจะถาม และเขาก็จะเล่าให้ฟังจนเป็นนิสัยเหมือนกัน 

 

เด็กเนี่ย เมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะเริ่มอยากรู้ อยากทดลอง มีวันหนึ่งเขาก็มาเล่าให้ฟังว่าเพื่อนไปถนนข้าวสารแล้วโดนอาจารย์จับได้ โดนเรียกผู้ปกครอง ผมก็ถามว่าแล้วลูกไม่ไปกับเขาด้วยเหรอ เขาบอกว่า “ไม่เอา ยังไม่อยากไป” 

 

จนกระทั่งวันหนึ่งลูกชายก็มาเล่าให้ฟังอีกว่าเขาไปมาแล้ว เราถามเขาว่าแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ดื่มอะไรหรือเปล่า เขาบอกว่าดื่มเบียร์ ดื่มไปแก้วหนึ่ง แต่ไม่หมด เราก็ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบว่ามันร้อนๆ เราก็เลยบอกเขาไปว่า ดื่มไปเถอะ ตอนดื่มก็สังเกตตัวเองด้วยแล้วกันว่าดื่มแล้วเป็นอย่างไร ข้อสำคัญคือถ้าดื่มแล้วสังเกตว่าเริ่มคอนโทรลตัวเองไม่ได้ ลูกต้องหยุด

 

แต่ก่อนหน้านั้นความจริงเราให้เขาดื่มที่บ้านอยู่แล้วนะ ชวนครั้งแรกตอน 7-8 ขวบ ตอนนั้นชวนแล้วเขาก็ไม่เอาอยู่หลายปีเหมือนกัน จนวันหนึ่งชวนแล้วเขาก็ลอง แต่ลองแค่จิบเดียว (หัวเราะ)  

 

ทำไมคุณถึงชวนลูกดื่ม

ทำไมจะไม่ชวนล่ะ เพราะยังไงมันก็ต้องไปลองอยู่แล้ว อย่างนั้นก็ลองกับเราเลย เป็นประสบการณ์แรกกับพ่อแม่ กินเหล้าครั้งแรกกับพ่อ ดูดบุหรี่ครั้งแรกกับพ่อ เราจะได้สังเกตด้วยว่าเขาลองแล้วเป็นอย่างไร

 

คิดว่าวันนี้เป็นพ่อที่ลูกชายคุยได้ทุกเรื่องไหม

ทุกเรื่อง เรายังเคยคุยกันเลย เฮ้ย หมอยขึ้นหรือยัง (หัวเราะ) ถ้าขึ้นแล้วให้พ่อดูนะ ไหนเปิดให้ดูหน่อยซิ

 

แล้วเรื่องผู้หญิงล่ะ มาเล่าให้ฟังบ้างไหม

จะเหลือเหรอ ชักว่าวเป็นหรือยังเรายังถามทุกวันเลย 

 

ลูกชายไม่เขินเหรอ

มันเขินอยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้มันไม่เขิน ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ นี่เดี๋ยวไปจูบใครเมื่อไรต้องมาเล่าให้พ่อฟังนะ เราอยากคุยกับเขาหมด แต่ถึงเวลาเขาก็ไม่คุยกับเราหมดหรอก เอาเป็นว่าเขาอยากคุยด้วยแค่ไหนก็เรื่องของเขา เราแค่เปิดให้เขาเห็นว่าถ้าคุยกับพ่อก็คุยได้ทุกเรื่อง

 

แต่เขามาบอกเราอยู่เรื่อยแหละว่าเพื่อนๆ ชมตลอดว่าคุณพ่อเท่มากเลย เป็นคุณพ่อที่สุดยอด พอเราได้ยินก็รู้สึกว่า แค่นี้ก็โอเคแล้วนะที่เขาภูมิใจในความเป็นพ่อของเรา แล้วสามารถโชว์เพื่อนได้ เพราะเพื่อนหลายคนบอกว่าพ่อเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ แค่นี้พอแล้ว ที่เหลือมันแทบไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว

 

 

สำหรับคนเป็นพ่อ แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

สำหรับเราก็แค่นี้แหละ แม้ว่าต่อไปชีวิตเขาอาจจะเรียนไม่จบ หรือจบแล้วไปทำงานอะไรต่อก็ไม่รู้ ไม่แน่อาจจะไม่มีงานทำ ไม่มีเมีย ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีความเชื่อ ถ้าเรารู้ว่า ณ วันนี้เขาอยู่บนเส้นทางที่ดี มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความสุข มีความมั่นใจในสิ่งที่ดีงาม ไม่มีปมอะไรในใจ ยังไงชีวิตข้างหน้าก็ดี อย่างน้อยคือดีสำหรับตัวเขาแน่นอน เพราะเราให้อิสระที่เขาจะเลือกชีวิตตัวเอง ให้โอกาสทดลองว่าอะไรดีหรือไม่ดี สำคัญที่สุดคือต้องมีความสุขอยู่บนทางที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น

 

เราให้หลักกว้างๆ ไว้เฉยๆ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เราไม่สอน เพราะรู้ว่าสอนยังไงก็ใช้ไม่ได้ สิ่งที่สอนมันคือสิ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ เคยเรียนรู้มาในวัยของเรา ซึ่งสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เราคิดจะสอนมันอาจจะเหมาะกับสังคมในวันนั้น แต่วันนี้มันอาจจะไม่เหมาะแล้วก็ได้ ฉะนั้นให้เขาตัดสินใจชีวิตตัวเองดีกว่า

 

แต่สิ่งที่มันไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่ายุคไหน… มันอาจจะเป็นคำเชยๆ หน่อยนะ แต่เราเน้นที่จะให้เขามีสิ่งนี้ นั่นคือคุณธรรม ความดีงาม การเป็นคนที่สามารถอยู่กับคนอื่นได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อน เราถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่เคยพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลยนะ

 

หมายถึงไม่ต้องบอกหรอกว่าเวลาไหนควรทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องของ Common Sense ที่ถึงเวลาจะรู้เอง

คือเราอยากให้เขาดูแลตัวเองให้ได้ก่อน เขาจะได้ไม่ไปเป็นปัญหาสำหรับคนอื่น มันก็กลับไปสู่เรื่องที่เราต้องสังเกตตัวเองว่าเราชอบอะไรและไม่ชอบอะไร และเราทำอะไรได้แค่ไหน ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เราอาจจะพูดมุมโน้นที มุมนี้ที บอกแบบโน้นหน่อย แบบนี้หน่อย แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่สถานการณ์หรือสิ่งที่เขาต้องเผชิญในแต่ละวันอาจจะไม่เหมือนกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising