เมื่อวานนี้ (17 มีนาคม) เวลา 21.30 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กสื่อสารกับผู้ติดตามกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่าวันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน 100 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง เราเห็นการเกิดขึ้นของไวรัสนี้เริ่มต้นจากประเทศจีน แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศเกาหลีใต้ แพร่กระจายไปยังทวีปยุโรป แพร่กระจายไปยังอิหร่าน และแน่นอนที่สุดก็เข้ามาถึงประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสื่อสารและพูดจากันอย่างตรงไปตรงมาถึงการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส นี่เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่แค่ของรัฐบาลไทย แต่เป็นความท้าทายของผู้คนในสังคมทุกคน
“ก่อนที่จะพูดถึงการรับมือของการแพร่ระบาดไวรัส ขอให้กำลังใจกับครอบครัวของผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ขอให้ทุกท่านเข้มแข็งและก็มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกท่านที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเต็มที่ ทุกท่านมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ถลำลึกไปในระยะการแพร่ระบาดที่หนักหนาสาหัสกว่านี้” ธนาธรกล่าว
ธนาธรกล่าวอีกว่าข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้จำลองแบบอนาคตขึ้นมา 3 แบบด้วยกัน แบบแรกคือแบบที่เลวร้ายที่สุด แบบที่ 2 คือแบบความเลวร้ายปานกลาง และแบบสุดท้ายคือแบบการรับมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข คน 1 คนจะทำให้เกิดผู้ป่วยอีก 2.2 คน ดังนั้นภายใน 1 ปีเราจะมีผู้ป่วย 16.7 ล้านคน ทั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลันอีกด้วย การเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลันและตัวเลขที่สูงขนาดนี้จะทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งตนไม่คิดว่าระบบสาธารณสุขอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะสามารถรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้ ในสถานการณ์แบบที่ 2 คือสถานการณ์แบบปานกลาง อาจมีผู้ป่วยได้มากถึง 9.9 ล้านคนภายใน 2 ปี และลำดับสุดท้าย ในสถานการณ์ที่มีการรับมือแบบมีประสิทธิภาพ เราอาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 4 แสนคนภายใน 2 ปี เราจะเห็นถึงความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมรับมือกันอย่างร่วมแรงร่วมใจมากน้อยเพียงใด
“ในกรณีที่รุนแรงที่สุด เดือนที่เกิดการแพร่ระบาดสูงสุดก็คือเดือนสิงหาคมและกันยายนของปี 2563 ซึ่งผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดอยู่ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลมาก และจากข้อมูลทางการแพทย์ขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า 20% ของจำนวนนี้อาจจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาอยู่ในสถานพยาบาล ซึ่ง 20% ของ 1.5 ล้านคนคือ 3 แสนคน หมายความว่าหากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่สุดขึ้น เราจำเป็นจะต้องมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ในระบบสาธารณสุขไทยถึง 3 แสนคน ไม่ใช่แค่เฉพาะเตียง เรากำลังพูดถึงเครื่องช่วยหายใจ เรากำลังพูดถึงหน้ากาก ถุงมือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เรากำลังพูดถึงพื้นที่ที่เพียงพอ เรากำลังพูดถึงยารักษาโรคที่เพียงพอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องเตรียมการในเวลาอันใกล้ ซึ่งอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นเองจะถึงจุดสูงสุดในสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายที่สุด ผมไม่คิดว่าเราจะมีประสิทธิภาพและศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับมัน” ธนาธรกล่าว
ธนาธรกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องทำและร่วมมือกันคือการชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากเราสามารถชะลอได้ เดือนที่จะมีการแพร่ระบาดสูงที่สุดคือเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2564 หรืออาจมองได้ว่ามีเวลาเตรียมการอีก 10 เดือน และจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดต่อสัปดาห์แทนที่จะเป็น 1.5 ล้านคนในแบบจำลอง จะเหลือเพียงแค่ 4.8 แสนคนต่อสัปดาห์ ซึ่งจะมีผู้ป่วยที่ต้องรักษาอยู่ในสถานพยาบาลเหลือเพียง 1 แสนราย จะเห็นได้ว่าเราจะมีศักยภาพรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้น หากคนในสังคมร่วมมือกันชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
นอกจากนี้ธนาธรยังได้ยกตัวอย่างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์โดย The Washington Post ที่มี 3 แบบด้วยกัน ซึ่งมีความคล้ายกับโมเดลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้นำเสนอไป โดยมาตรการที่ดีที่สุดนั้นคือมาตรการ Social Distancing หรือมาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด ซึ่งจากการคำนวณของคอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นลดการติดเชื้อได้เป็นจำนวนมาก และอัตราที่ประชาชนจะไม่ติดเชื้อเลยจะสูงมากยิ่งขึ้น สำหรับมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะคนในสังคม อย่างแรกที่สุดเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ไม่เดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงเข้าร่วมประชุม ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีผู้คนรวมกันมากกว่า 10 คน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพ หรืองานรื่นเริงสังสรรค์ทางสังคม แม้แต่เวลารับประทานอาหารอาจจะต้องพิถีพิถันมากขึ้นกว่าเดิม อาจต้องมีสำรับตัวเอง หากต้องพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน ให้เว้นระยะห่างในการพูดคุย ไม่ยืนพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดจนเกินไป ล้างมือให้บ่อย ทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ดื่มกินเป็นประจำ ไม่เดินทางออกนอกถิ่นฐาน ถ้าเราช่วยกันทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำให้อัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลง และเราสามารถที่จะทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ได้ พวกเราร่วมมือกัน
.
ธนาธรกล่าวว่ามาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนควรจะต้องดำเนินไปพร้อมกับมาตรการเยียวยา เรามีต้นทุนการหลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คน มีต้นทุนของการไม่ออกไปทำงาน และในสังคมเรา คนที่แบกรับต้นทุนส่วนใหญ่และหนักหนาสาหัสก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รัฐบาลจำเป็นจะต้องออกมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเพื่อให้เขากระทำมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้น้อยหลายคนอาจไม่อยากไปตรวจหรือไม่แสดงตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกสั่งหยุดงาน ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการให้กลุ่มคนรายได้น้อยแสดงตัวได้อย่างไม่มีต้นทุน ต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้อย่างใช้ต้นทุนน้อยที่สุด
ธนาธรกล่าวว่ามาตรการที่ตนได้กล่าวไปนั้นเพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้การแพร่ระบาดจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 ซึ่งการแพร่ระบาดระยะที่ 3 หมายความว่ามีการแพร่ระบาดในท้องถิ่นนั้นๆ และเกินกำลังที่รัฐจะสามารถเข้าไปควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด เราในฐานะเพื่อนร่วมสังคม เราต้องมีวินัยในการรับผิดชอบคนในสังคม รับผิดชอบต่อคนที่เรารัก รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงาน และรับผิดชอบต่อครอบครัว เราสามารถเริ่มต้นมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนด้วยตัวของเราเองได้ และถ้าเราช่วยกัน เราจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้
“แม้ประชาชนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ก็ยังมีโอกาสที่ทำให้การแพร่เชื้อไวรัสเข้าสู่ระยะที่ 3 หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วในประเทศแถบตะวันตกที่จะใช้มาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉิน การปิดสถานที่ หยุดการขนส่งสาธารณะ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดในประเทศไทย และเราหวังว่าจะไม่เดินไปสู่จุดนั้น แต่ถ้าจุดนั้นมาถึงจริงๆ คิดว่าคงเป็นเวลาที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาให้เข้าใจ รับรู้ ไม่ตื่นตระหนก และเพื่อเตรียมพร้อมรับมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะกระทบกับพวกเราทุกคน” ธนาธรกล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์