วันนี้ (27 กันยายน) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บรรยายพิเศษแก่นักศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ (International LL.B. Program in Business Law) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวิชา TU101 โดยได้บรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการของทุนนิยมในประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน ที่นำไปสู่การครอบครองความมั่งคั่งของกลุ่มทุนผูกขาด และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
ในช่วงหนึ่งของการบรรยาย ธนาธรได้ตั้งคำถามถึงสถานการณ์สมมติ ว่าหากมีตลาดสินค้าตลาดหนึ่ง ที่มีผู้เล่นสามรายใหญ่ โดยรายแรกครองตลาดอยู่กว่า 44.4% รายที่สองถือครองตลาดอยู่ 32.8% รายที่สามถือครองอยู่ 20.2% และที่เหลืออีกราว 4-5 รายถือครองตลาดอยู่เพียง 2% ซึ่งรายที่สองและที่สามกำลังจะควบรวมกิจการกัน นักศึกษาเห็นว่าเป็นการควบรวมที่จะนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าหรือไม่ ก่อนที่จะเฉลยว่านี่คือกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง กับกรณีของการควบรวมของ TRUE-DTAC ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมเวลานี้
ธนาธรระบุต่อไปว่า เรื่องของการควบรวมกิจการ (Merger) และการต่อต้านการผูกขาดทางการค้า (Anti-trust) คือหนึ่งในประเด็นที่นักเรียนกฎหมายธุรกิจทุกคนจะต้องได้เรียน แต่สิ่งที่ทุกคนควรต้องรู้ไปพร้อมกันก็คือ เรื่องของเศรษฐศาสตร์ และต้องเข้าใจว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ขณะที่รัฐอนุญาตให้เอกชนสามารถแสวงหากำไรสูงสุดและความร่ำรวยได้ แต่ก็มีวิธีคิดปกป้องผู้บริโภคเช่นกัน พร้อมกับการบัญญัติให้การผูกขาดทางการค้าเป็นเรื่องที่มีความผิดทางกฎหมาย
อย่างเช่นในช่วงทศวรรษที่ 1900 ช่วงเวลาที่ บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ จำกัด ของ จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ เป็นผู้ผูกขาดตลาดน้ำมันทั้งหมด เป็นยุคที่ราคาน้ำมันขึ้นแพงมากจนเกิดเสียงเรียกร้องจากประชาชน และนำไปสู่การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ฟ้องศาลให้บังคับ บริษัท สแตนดาร์ดออยล์ จำกัด ขายกิจการบางส่วนของตัวเองออกมาเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอีกต่อไป ซึ่งในที่สุดศาลก็ได้มีคำสั่งไปในทิศทางดังกล่าว และเกิดการแยกตัวออกมาเป็น 7 บริษัท และต่อมาได้กลายมาเป็น 4 บริษัทน้ำมันใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา
ธนาธรระบุว่า นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศที่เป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐอเมริกา หากการผูกขาดทางการค้าดำเนินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รัฐบาลก็จะใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อบังคับให้สลายการผูกขาดได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยม และเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลและหน่วยงานที่ป้องกันการผูกขาดทางการค้า ที่จะปกป้องผู้บริโภคในกรณีที่กำลังจะเกิดการผูกขาดขึ้น
“กรณีของสแตนดาร์ดออยล์เกิดขึ้นได้เมื่อประชาสังคมและรัฐมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จนบีบบังคับให้ผู้เล่นในตลาดต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคม ถ้าวันนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ฟ้องร็อกกี้เฟลเลอร์จนเกิดการแยกตัวออกมา การผูกขาดน้ำมันก็อาจจะยังอยู่ในมือของสแตนดาร์ดออยล์มาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ เช่นเดียวกัน รัฐไทยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในกรณีของ TRUE และ DTAC ที่จะเข้าขัดขวางไม่ให้เกิดการผูกขาดที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคต” ธนาธรกล่าว