×

ธนาธรร่วมวงเสวนา ‘ประเทศไทยในอีกทศวรรษ’ เผย 5 เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องปฏิรูป

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (18 กันยายน) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘ประเทศไทยในทศวรรษหน้า’ พร้อมกับวิทยากรอีก 2 คนคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

 

โดยในช่วงแรก ธนาธรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภาพฝันเกี่ยวกับประเทศไทยที่ตนเองอยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การต่างประเทศ ฯลฯ โดยชี้ให้เห็นถึงระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนแค่ไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่ตระกูล คนจนและคนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยได้รับการเหลียวแล โดยสรุปด้วยว่าเพราะความฝันที่อยากเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้นแบบนี้เองทำให้ตนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชังชาติ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ก็เป็นความฝันของคนอีกหลายล้านคนเช่นกัน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไปสู่จุดนั้นได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ยิ่งในรอบ 2 ปีที่ตนมีโอกาสได้ไปเป็นกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายฯ ยิ่งทำให้มั่นใจ แต่ก็ได้เห็นว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรของประเทศไทยไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจะไปสู่จุดที่ฝันได้ต้องแก้ปัญหาและโจทย์ทางการเมืองเหล่านี้

 

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า พรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบ 14 ปีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาเราเห็นการปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ปิดสถานีโทรทัศน์ ปิดสี่แยกเศรษฐกิจ ปิดคูหาเลือกตั้ง มีการชุมนุม การล้อมปราบที่นำมาซึ่งคนบาดเจ็บล้มตาย การยุบพรรคการเมืองต่างๆ เราเห็นการรัฐประหาร 2 ครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ 2 ครั้ง การเอาภาษีประชาชนและงบประมาณของประเทศมาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใกล้ชิดเพื่อเป็นเสาค้ำยันการสืบทอดอำนาจ 

 

“ถ้าเรายังปล่อยให้อนาคตของเราเป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา อนาคตแบบที่เราอยากเห็นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นนี่คือโอกาสที่เราทุกคนจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมเห็นว่าทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะมาตั้งต้นกันใหม่ ยอมรับความผิดพลาดในอดีต แล้วหาทางไปข้างหน้า ให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา และโอกาสที่เราจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตกำลังจะหมดแล้ว โดยขั้นแรกที่สุดคือเราต้องหยุด ‘ระบอบประยุทธ์’ ให้ได้ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ หยุดระบอบประยุทธ์ในรูปรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรบอกด้วยว่า ถึงแม้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ก็ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน แต่เป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้นเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบที่ผ่านมาอีก เรายังมีอีก 4-5 ประการต้องทำ ได้แก่ 

 

1. ปฏิรูประบบราชการที่ส่วนกลาง คืนอำนาจงบประมาณให้ต่างจังหวัดมีอำนาจตัดสินอนาคตตัวเอง
2. ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
4. ยกเลิกการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางแข่งขันกัน

 

“และข้อที่ 5 ถึงวันนี้คงมีความจำเป็นที่จะต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจดีว่าเมื่อพูดแล้วจะสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้คนหลายท่าน แต่อยากจะให้พวกเราย้อนกลับมามองดูในประวัติศาสตร์ว่าบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์กับหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันสอดคล้องกันหรือไม่ ดังนั้นเพื่อจะทำให้สังคมเดินไปข้างหน้า เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไป หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้ว” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรกล่าวต่อไปด้วยว่านี่คือการพูดด้วยความหวังดี และเป็นการพูดที่อยู่ในกรอบกฎหมายที่มีความกังวลว่าหากมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาจะนำไปสู่การรัฐประหาร ตนไม่คิดว่าจะจบลงเช่นนั้น คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามเรื่องนี้ออกมาแล้ว คำถามที่อย่างน้อยที่สุดคนรุ่นเราควรจะต้องถามกันเองว่าเราพร้อมหรือยังที่จะเผชิญหน้ากับความจริง เรามีวุฒิภาวะพอหรือยังที่จะเผชิญเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เอาปัญหาซุกไว้ใต้พรมให้คนรุ่นหลังแก้กันเองอีก เราจะพูดเรื่องนี้อย่างมีเหตุผลได้หรือยัง นี่คือคำถามที่นักศึกษาได้ตั้งคำถามและท้าทายเรา ตนอยากเรียกร้องให้ทุกคนพูดเรื่องนี้กันด้วยความหวังดี การพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตยได้ ที่ผ่านมาในการชุมนุมไม่มีใครเรียกร้องให้ล้มล้างระบอบเลย แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าพวกเรามีส่วนทำให้สังคมไทยมาถึงทางตันนี้ เรื่องสถาบันกษัตริย์จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าเราไม่ดึงสถาบันลงมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรม ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’ หรือคำพูดของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่กล่าวว่าทหารคือม้า รัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ เป็นต้น

 

“ผมไม่คิดว่ารัฐประหารรอบนี้จะประสบความสำเร็จ รอบนี้มีปัจจัยไม่เหมือนเมื่อปี 2549 หรือ 2557 ด้วยปัจจัยที่ต่างออกไปทำให้ไม่คิดว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศได้ปกติหลังรัฐประหาร และคิดว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน อย่างน้อยผมคนหนึ่งที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรกล่าวด้วยว่าจากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เหลือความศรัทธาในสภาชุดปัจจุบัน ไม่เห็นว่ารัฐสภาวันนี้มีเจตนาที่แรงกล้าพอในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พาสังคมไทยไปข้างหน้า แล้วหลุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ได้ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาจะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน ซึ่งกฎกติกาที่สังคมจะอยู่ได้ด้วยสันติ ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทุกคนเคารพในกติกานั้น จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ พาสังคมไปข้างหน้าได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชนว่าเราจะไม่ทนอีกแล้วกับสังคมแบบนี้ การชุมนุมแบบสันติ ปราศจากความรุนแรงและการใช้อาวุธ เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองและทำให้เขาต้องฟังประชาชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ก็คือไปชุมนุมกันให้มากที่สุด

 

“ส่วนประเด็นที่มีความห่วงใยกันว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการชุมนุม ผมเห็นว่าเวลาเราจะพูดถึงความรุนแรงหรือการปะทะ คนที่เราต้องเรียกร้องคือตำรวจ ทหาร และรัฐบาลว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือไม่ การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนหรือมีข้อเรียกร้องทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่ได้รับประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในฉบับ พ.ศ. 2560 การชุมนุมอย่างสันติและปราศจากอาวุธคือการใช้สิทธิในฐานะพลเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ และเมื่อย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากประชาชนเอาปืนไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนทั้งสิ้น” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรยังกล่าวถึงกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวานนี้ว่าถ้ามีการชุมนุมเรียกร้องการเมืองจะทำให้รัฐบาลเสียสมาธิในการแก้ปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ พูดมามีข้อผิดเต็มไปหมด ประการแรก การแก้ปัญหาโควิด-19 แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำไปด้วยกันพร้อมกันได้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับเครื่องมือในการแก้ปัญหาทั้งหมดมาจากสภาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563, พ.ร.ก. เงินกู้ 3 ฉบับ และรวมถึง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2564 ซึ่งสภาก็คงจะผ่านให้อีก มีเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจและโควิด-19 ได้ทั้งหมด ดังนั้นเรื่องการจัดการปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลล้วนๆ

 

“แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ดังนั้นถ้า พล.อ. ประยุทธ์ บอกคำเดียวว่าเสียงข้างมากในสภา อย่างน้อยที่สุดคนที่อยู่ในสังกัด พล.อ. ประยุทธ์ ให้มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญกันก็สามารถทำได้ทันที ไทม์ไลน์ที่ว่านั้น ถ้ามีเจตจำนงจริงๆ ปีครึ่งก็ทำได้ ถ้าเจตจำนงมีจริงๆ ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญกันเถอะ ถ้าไม่ใช่เพียงที่จะซื้อเวลา อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่ต้องแก้มาตรา 272 เรื่อง ส.ว. มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ในระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกำลังเดินไป สามารถทำไปพร้อมกันได้ เพราะถ้าเกิดมีการยุบสภาขึ้นมาเมื่อไร กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะหายไปเลย กรรมาธิการที่ศึกษาหรือทำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะหายไปทันที นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องผลักดันมาตรา 272 เพื่อไม่ให้รัฐบาลยุบสภาหนี ซึ่งการยุบสภานั้นจะเป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ” ธนาธรกล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising