×

ธนาธรยก 3 เหตุผลหยุดสืบทอดอำนาจ ถามพรรคการเมืองหนุน คสช. ตอบประชาชน “ต้องการสังคมแบบนี้จริงๆ หรือ”

โดย THE STANDARD TEAM
14.05.2019
  • LOADING...

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวในประเด็น ‘3 เหตุผลที่ควรหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช.’ พร้อมทวงถามจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ คสช. ทั้งที่มีนโยบายขัดกับที่หาเสียงไว้กับประชาชนหรือไม่

 

โดยประการแรก ธนาธรเปิดเผยข้อมูลการใช้ภาษีของประชาชนอย่างมหาศาลเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิด คสช. เช่น กรณีของการบินไทย ผลักดันให้การบินไทยมีแผนเช่า/ซื้อเครื่องบิน 38 ลำ มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ในสภาวะที่การบินไทยขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนาน มีหนี้สินสะสมแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท

 

รวมถึงกรณีการใช้มาตรา 44 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และยืดการชำระหนี้ของกลุ่มทุนโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 ราย ทั้งสองกรณีรวมเป็นมูลค่ากว่า 23,664 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มในประเทศไทยได้รับ

 

และยังมีกรณีการทำสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินที่ให้สัมปทานเอื้อกลุ่มทุนเดิมคือกลุ่มคิง เพาเวอร์ โดยกลุ่มทุนดังกล่าวมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 1.55 แสนล้านบาทภายในเวลา 12 ปี หลังได้รับสัมปทานครั้งแรก หรือคิดเป็นความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นถึง 32 เท่าภายในเวลาเพียง 12 ปี ซึ่งสัมปทานฉบับเดิมกำลังจะหมดอายุลง และ ทอท. ได้มีการออก TOR เพื่อให้กลุ่มทุนเดิมได้เปรียบ เช่น การให้คะแนนความสามารถด้านเทคนิคมากกว่าผลประโยชน์ที่จะส่งให้รัฐ, การมัดรวมสัญญาสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคในช่วงแรกของการเปิดประมูล, การให้สิทธิสัมปทานยาวนานถึง 10 ปีและต่อได้ถึง 14 ปี และการให้ผู้ชนะได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลประโยชน์ที่ประเทศได้จากค่าธรรมเนียมสัมปทานน้อยกว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆ ถึงครึ่งต่อครึ่ง

 

รวมถึงกรณีสัมปทานรถไฟ 3 สนามบินที่ให้แก่กลุ่ม CP ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่น่าสงสัย เช่น การประมูลที่รวมการพัฒนาที่ดินรอบสถานี โดยเฉพาะที่ดินผืนใหญ่ผืนสุดท้ายใจกลางกรุงเทพมหานครคือที่ดินมักกะสัน, การให้เอกชนออกเงินน้อยกว่ารัฐ และการที่เงื่อนไขสัญญาและการเจรจาทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับ โดยมีข้อมูลหลุดออกมาว่าข้อเสนอเพิ่มเติมในซองที่ 4 เต็มไปด้วยข้อเสนอหลายประการที่จะทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์

 

ประการที่สอง ธนาธรเปิดเผยว่าหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่นาน ได้มีการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับที่มีผลบั่นทอนการกระจายอำนาจ เช่น การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเรียกชี้แจง แนะนำ ตักเตือน สั่งเพิกถอนการกระทำ หรือให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ได้ การทำลายความเป็นอิสระของท้องถิ่นด้วยการกำหนดให้การบริการสาธารณะและการเบิกจ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย และการลดความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น การกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุขั้นต่ำ 35 ปี, ลดสมาชิกสภา อบต. เหลือหมู่บ้านละ 1 คน, การยกเลิกตำแหน่ง ส.ข., และผู้บริหาร อปท. รูปแบบพิเศษไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

 

ซึ่งต่อกรณีนี้ ธนาธรระบุว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างพูดเรื่องการกระจายอำนาจและการลดอำนาจราชการรวมศูนย์ แต่ที่น่าสังเกตคือทุกวันนี้พรรคการเมืองที่พูดเรื่องเหล่านี้หลายพรรคกลับจะไปร่วมรัฐบาลกับกลุ่มคนที่ออกนโยบายผลักดันการรวมศูนย์อำนาจ ตนจึงต้องทวงถามไปที่พรรคการเมืองเหล่านี้ว่าตกลงแล้วพวกคุณสนับสนุนการกระจายอำนาจจริงหรือไม่

 

ประการที่สาม ธนาธรเปิดเผยว่าเร็วๆ นี้ได้มีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับที่มีผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือ พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ และการแก้ไข พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถเจาะระบบเข้าดูข้อมูลของประชาชนได้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งการตีความคำว่าภัยความมั่นคงเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถตีความได้อย่างแทบจะอิสระ

 

โดยธนาธรระบุว่าการกระทำของรัฐบาล คสช. สามประการที่ตนได้กล่าวถึงไปนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงธาตุแท้ของ คสช. เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ทั้งการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน การออกกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ และการออกและแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ผ่านก่อนการเลือกตั้ง แต่ผ่านหลังการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งนี้สิ่งที่ตนอยากฝากให้ทุกคนช่วยจับตามองเป็นพิเศษก็คือกรณีของสัญญาสัมปทานที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหลายตัว อาจจะมีการเซ็นสัญญาก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตนขอให้ทุกคนช่วยกันจับตามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้ด้วย

 

ธนาธรระบุว่าจากกรณีที่กล่าวถึงไปทั้งหมดได้สะท้อนธาตุแท้และตัวตนของ คสช. และรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลกันในนามของพรรคพลังประชารัฐว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ออกนโยบายส่งผลเสียหายต่อชาติบ้านเมือง การนำภาษีของประชาชนไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพวกพ้อง การรวบอำนาจเข้าสู่รัฐราชการรวมศูนย์ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตนขอทวงถามไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และผลักดันให้พลเอก ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่านี่คืออนาคตของประเทศที่พวกคุณต้องการใช่หรือไม่

 

“ผมอยากสื่อสารไปถึงพรรคการเมืองอื่นๆ นี่คือสังคมที่คุณอยากเห็นหรือ ตอบกับพี่น้องประชาชนหน่อยว่าคุณร่วมกับเขาทำไม นี่คือรัฐบาลในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาที่ทำเรื่องพวกนี้ คุณจะร่วมกับรัฐบาลที่ทำเรื่องพวกนี้ใช่ไหม ที่เอาภาษีของพี่น้องประชาชนไปเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุน คุณอยากร่วมกับรัฐบาลที่ลดการกระจายอำนาจใช่ไหม คุณอยากร่วมกับรัฐบาลที่ปิดปากประชาชนใช่ไหม พรรคการเมืองที่คุณตัดสินใจไปแล้ว บอกประชาชนหน่อยได้ไหม คุณตัดสินใจแบบนั้นด้วยเหตุผลอะไร และพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจ ช่วยบอกประชาชนหน่อยว่าความฝันของคุณคืออะไร คุณอยากได้สังคมแบบไหน” ธนาธรกล่าว

 

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคอนาคตใหม่ไม่มีอำนาจในฐานะรัฐบาลจะผลักดันแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่ ธนาธรตอบว่าในฐานะผู้แทนราษฎรในสภา เราผลักดันวาระต่างๆ ด้วยกลไกช่องทางต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม การใช้ช่องทางของกรรมาธิการต่างๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่จะทำต่อไปในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้สิ่งที่ตนต้องการเน้นย้ำเป็นพิเศษไม่ใช่การทวงถามไปถึงพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นตัวผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ พวกคุณยืนยันจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ และพวกคุณจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ทำเรื่องเหล่านี้จริงๆ หรือไม่ ให้ช่วยตอบพี่น้องประชาชนด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising