เมื่อวานนี้ (วันที่ 10 พฤษภาคม) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า เสนอแนวทางฟื้นฟูการบินไทยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์
ธนาธรกล่าวว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยของรัฐบาลตามที่ปรากฏในข่าวต้องใช้เงิน 2 ก้อน รวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท
โดยก้อนแรกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท คือการกู้เงินเพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องทางการเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 ซึ่งค้ำประกันโดยรัฐบาล หมายความว่าถ้าการบินไทยล้มละลาย เจ้าหนี้จะได้เงินคืนทุกบาทจากรัฐบาล
แต่เงินอีกก้อนที่ไม่ได้พูดถึงกันมากคือเงินอีก 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนปรับปรุงงบการเงินให้แข็งแรง
ธนาธรไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล ซึ่งสรุปได้ง่ายๆ ว่าถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
เขาจึงเสนอรูปแบบอื่นที่จะจัดการปัญหาของการบินไทยได้ดีกว่านี้
ในช่วงการบรรยายของธนาธร สรุปได้ว่าเขาเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย 3 แนวทางคือ
- ปล่อยการบินไทยล้มละลาย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ถ้ามีคนสนใจ ผู้ซื้อรายใหม่ก็จะเข้ามาซื้อทรัพย์สินของการบินไทยแล้วดำเนินการต่อเองโดยปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการ ซึ่งจะต้องนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า โดยทุกสายการบินเลือกเส้นทางการบินได้เสรีและจ่ายค่าสัมปทานเส้นทางการบินในราคาเท่ากัน แล้วให้ทุกสายการบินแข่งขันกันอย่างเสรี เพราะหากเลือกแนวทางการปล่อยล้มละลายแล้วไม่เปิดเสรีน่านฟ้า เอกชนรายใหม่ของการบินไทยจะเป็นผู้ได้ประโยชน์
- รัฐบาลเข้าไปช่วยการบินไทยในระยะสั้นเพื่อเตรียมการสู่การขาย โดยปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขายหรือการล้มละลายอย่างมีการจัดการ หรือ Bridge Loan แล้วนำการบินไทยไปเปิดประมูล ซึ่งรัฐจะได้เงินกู้คืนจากเจ้าของรายใหม่ ซึ่งสามารถนำไปสู่ทางเลือก 2 แบบคือ รัฐไม่ถือหุ้นในการบินไทยเลยและเปิดน่านฟ้าเสรี หรือให้รัฐบาลถือหุ้นการบินไทยไม่เกิน 25% และเปิดน่านฟ้าเสรีเพื่อให้มีการแข่งขัน
- ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐเพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟู เคลียร์เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นออกไป และเมื่อการบินไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติอาจนำไปสู่การปล่อยการบินไทยให้เป็นเอกชน 100% โดยรัฐไม่ถือหุ้นเลย หรือรัฐอาจถือหุ้นไม่เกิน 25% และเปิดน่านฟ้าเสรีเพื่อให้มีการแข่งขัน
สำหรับ 2 แนวทางแรก ถ้าการบินไทยเจ๊งหรือกำไรก็เป็นความเสี่ยงของเอกชนผู้ถือหุ้นรายใหม่ ส่วนแนวทางที่ 3 ถ้าการบินไทยเจ๊ง รัฐรับผิดชอบทั้งหมด แต่ถ้ากำไร รัฐบาลก็ได้ทั้งหมดเช่นกัน
ซึ่งทั้ง 3 แนวทางล้วนดีกว่าแนวทางปัจจุบัน ซึ่งถ้าการบินไทยเจ๊ง รัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยภาษีประชาชน แต่ถ้ามีกำไร ผู้ถือหุ้นเอาไปทั้งหมด ซึ่งไม่ยุติธรรมกับประชาชน
ธนาธรกล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศสายการบินของประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นที่รัฐต้องถือหุ้นใหญ่ หลายประเทศรัฐไม่ถือหุ้นในสายการบินของประเทศตัวเองเลย หรือในหลายประเทศรัฐเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายเล็ก
ธนาธรไม่เห็นด้วยในแนวทางการให้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย เพราะประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าแนวทางนี้การบินไทยไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและกลับมามีกำไรได้ ขณะที่แผนฟื้นฟูการบินไทยล่าสุดที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนระบุว่าการบินไทยจะลดต้นทุนรวม 42% ภายใน 2 ปี ในฐานะคนทำธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ที่จะลดต้นทุน 42% ภายใน 2 ปี ตนจึงไม่มีความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจของการบินไทยนี้เลย
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์