×

‘ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ’ ธนาธรแนะแก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องสร้างความเป็นธรรม ยกระดับความเป็นอยู่ ชูวัฒนธรรมในพื้นที่

23.06.2022
  • LOADING...
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในงาน ‘SCENARIO PATANI ภาพอนาคตปาตานี / ชายแดนใต้’ โดยในช่วงหนึ่งได้เชิญ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ‘ปาตานีที่เราอยากเห็น’ ซึ่งธนาธรได้กล่าวถึงเหตุผลที่จะพูดถึงในหัวข้อนี้ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,776 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้พิการกว่า 12,995 คน และจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 9,440 ครั้ง ซึ่งระบุว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก จนแทบกล่าวได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ไม่เคยมีความขัดแย้งในสังคมครั้งไหนที่มีผู้เสียชีวิตมากมายเท่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วยชาวพุทธ, ชาวมุสลิม, ครู, เด็ก, ผู้หญิง, ผู้นำทางศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ 

 

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความหวาดกลัวในชีวิต ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนในชุมชน และได้ระบุว่าเป็นความชอบธรรมอย่างมากที่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และเอกชน มาร่วมกันหาทางออก

 

โดยธนาธรได้กล่าวถึงปลายทางที่ตนอยากจะเห็นไว้ว่า อันดับที่หนึ่งก็คือ ปลายทางที่เราอยากเห็นต้องมีสันติภาพ ประชาชนทุกความเชื่อ ทุกความศรัทธา อยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ปลายทางที่สองที่เราอยากเห็นคือ ประชาชนมีงานทำ มีงานที่มีคุณค่า มีงานที่มีความหมาย สามารถทำงานแล้วเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม 

 

ปลายทางที่สามที่เราอยากเห็นคือ การมีวัฒนธรรมท้องถิ่น เราอยากเห็นปลายทางที่ผู้คนในสังคมที่มีความแตกต่างทั้งทางเชื้อชาติ ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทุกวัฒนธรรม ทุกความเชื่อได้รับการเชิดชู และปลายทางสุดท้ายที่เราอยากเห็นก็คือ ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ฟ้า และป่าของตนเอง โดยตนเชื่อว่าผู้ที่มานำเสนอในเวทีแห่งนี้ รวมถึงผู้ฟังหลายๆ คน คงอยากจะเห็นปลายทางของการเดินทางของพวกเราทั้ง 4 ข้อนี้อย่างที่ตนตั้งไว้

 

“ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาความรุนแรงไปแล้วถึง 5.12 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มากมายมหาศาล และตัวเลขนี้เพียงพอที่จะนำไปใช้ดูแลประชาชนด้านการสาธารณสุขได้เพียงพอ 67 ล้านคนใน 1 ปี ซึ่งเราได้ใช้งบบัตรทองของ สปสช. เพียงแค่ 2-3 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น เพราฉะนั้นงบประมาณตรงนี้เป็นงบประมาณที่มหาศาลมาก ซึ่งโดยเฉลี่ยต่อปีแล้วประเทศไทยได้ใช้งบไปกับตรงนี้ 2.56 หมื่นล้านบาท และถ้านำมาเทียบกันแล้ว ประเทศสามารถซื้อเรือดำน้ำได้ถึง 1 ลำต่อปีเลยทีเดียว ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรยังระบุด้วยว่า เราจะเห็นความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน สูญเสียความเชื่อใจกันในหมู่ประชาชน สูญเสียในงบประมาณประเทศที่มหาศาลมากในการแก้ไขปัญหาปาตานี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรการทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคม วัฒนธรรม มาตรการทั้งสามนี้ต้องใช้ไปพร้อมๆ กัน

 

ธนาธรได้กล่าวถึงมาตรการทางการเมืองว่าต้องลดบทบาทกองทัพ ใช้การทูตและการเมืองเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา ตนมีความเห็นว่า เราต้องทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ลดระดับปฏิบัติการทหารให้เหมือนพื้นที่อื่น และใช้การเจรจาการทูตเป็นตัวนำ และสภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนการเจรจาเป็นหลัก

 

ต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม ยกเลิกการเลือกปฏิบัติเพราะชาติพันธุ์ เพราะสีผิว เพราะความเชื่อทางศาสนา และทุกคนต้องเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ผ่านๆ มา เช่น กรณีที่มีการซ้อมทรมานในค่ายทหาร และสุดท้ายต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง มีการกระจายภาษีอย่างเป็นธรรม กระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้ออกแบบเมืองของตน เปิดโอกาสให้กำหนดอนาคตของชุมชนตัวเองได้

 

“ตราบใดที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีทางที่จะสร้างสันติภาพได้ สันติภาพต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับรัฐส่วนกลางในพื้นที่ เช่น การใช้มาตรการ ‘สองแชะ’ ที่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายหนึ่งที่นำเข้ามาโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในพื้นที่ โดยการถ่ายรูปบัตรประชาชนและใบหน้าของประชาชนเอง ซึ่งหน่วยงานระบุว่าเป็นการขอความร่วมมือ แต่ในภายหลังมีการข่มขู่ว่าจะทำการตัดสัญญาณโทรศัพท์กับผู้ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ซึ่งตนมองว่าท้ายที่สุดมันจะไม่ใช่การขอความร่วมมือ เพราะถ้าเป็นการขอความร่วมมือจริง จะต้องไม่มีการบังคับโทษ และหลังจากนั้นเองเมื่อมีการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีการตัดสัญญาณเกิดขึ้น แต่ส่วนนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ และการใช้นโยบายที่ไม่ได้สัดส่วน ซึ่งนอกจากนี้ธนาธรยังระบุว่า มีการเก็บ DNA จากประชาชน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างชัดเจน

 

ในส่วนกรณีที่สองนั้นคือกรณีที่เป็นข่าวของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยอับดุลเลาะได้เสียชีวิต ณ โรงพยาบาล หลังจากที่ถูกจับกุมไปที่ค่ายทหาร ซึ่งมีร่องรอยของการซ้อมทรมาน และสุดท้ายศาลได้ตัดสินว่า การเสียชีวิตของอับดุลเลาะไม่ได้เกิดขึ้นจากการซ้อมทรมานในค่ายทหาร ถึงอย่างนั้นคำตัดสินได้ผิดกับหลักฐานข้อเท็จจริง และความเชื่อของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยกรณีต่างๆ เหล่านี้มิใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ที่สูญหายหรือถูกซ้อมทรมาน และสุดท้ายก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจรัฐส่วนกลาง

 

สุดท้ายในกรณีของเหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งผ่านมานานหลายปี แต่ก็ยังมิได้มีการชำระความจริง และผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ถูกนำเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม โดยตนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนแล้วจะสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มพูนความไม่ไว้วางใจ แล้วถ้าต้องการที่จะพูดคุยกันด้วยสันติภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดบทบาทกองทัพ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง

 

ธนาธรได้กล่าวถึงมาตรการทางเศรษฐกิจต่อไปว่า ต้องเริ่มที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวต่อเดือนของคนทั้งประเทศ 67 ล้านคนโดยเฉลี่ย 18,000 บาทต่อเดือน ถ้าตอนนี้ท่านมีรายได้มากกว่า 18,000 บาทต่อเดือน ท่านมีรายได้มากกว่าคนครึ่งประเทศ ถ้าท่านมีรายได้ 18,000 ต่อเดือน ท่านมีรายได้เท่าค่าเฉลี่ย

 

ธนาธรได้ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างจังหวัดยะลา อยู่ที่ 8,500 บาทต่อเดือน จังหวัดปัตตานี 6,200 บาทต่อเดือน และจังหวัดนราธิวาส 4,500 บาทต่อเดือน และเมื่อนำรายได้ต่อเดือนของคนแต่ละจังหวัดมาจัดลำดับจากมากไปน้อย จังหวัดยะลาอยู่ในลำดับที่ 43 ของประเทศ จังหวัดปัตตานีอยู่ที่ 64 ของประเทศ และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งนับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 76 ของประเทศ จึงทำให้มิต้องแปลกใจเมื่อคนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องดิ้นรนหาทางออกทางเศรษฐกิจมานานหลายสิบปี 

 

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาอาจจะมีความลังเลกับทางเลือกในอนาคต ที่ต้องการให้สามจังหวัดมีความเป็นเอกราช เพราะเขารู้สึกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ชีวิตของเขาไม่ได้มีความมั่นคงมากขึ้นเลย ทำให้เขาไม่สามารถมีรายได้ มีความฝัน มีความทะเยอทะยาน หรือเดินตามความฝันของตัวเองได้

 

“การแก้ปัญหา การสร้างงานที่มั่นคงให้กับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำไปพร้อมกับมาตรการทางด้านการเมือง ทุกท่านลองคิดดูว่า ในสามจังหวัดมีงานของเอกชนกี่งานที่สามารถจ่ายเงินเดือน 15,000-20,000 บาทให้กับประชาชนได้ ผมคิดว่าในสามจังหวัด หนึ่งจังหวัดมีไม่เกิน 2,000 งาน ที่สามารถทำให้ประชาชนตั้งต้นชีวิตและเดินตามความฝันได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่คนหนุ่มสาวออกไปแสวงหาโชค ออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิตในประเทศมาเลเซีย ในภูเก็ต หรือในสงขลา เพราะมันไม่มีโอกาส มันไม่มีความฝันอยู่ที่นั่น” ธนาธรกล่าว

 

จากนั้นธนาธรได้ยกตัวอย่างสิ่งที่ภาครัฐทำได้ดี และควรต้องทำมากยิ่งขึ้นคือ เมื่อประมาณเกือบ 2 เดือนที่แล้ว ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้มีการจัดงานวิ่งครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า ‘Amazean Jungle Trail’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยให้นักวิ่งได้เข้าไปสัมผัสป่าดิบชื้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีนักวิ่งเข้าร่วมกว่าพันคน นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามนักวิ่งราว 2,000-3,000 คน ทำให้เฉพาะในสุดสัปดาห์นั้น มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่หลายพันคน ซึ่งตนเชื่อว่าภายในสุดสัปดาห์เดียวกันนั้น ได้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัดยะลามากกว่า 10 ล้านบาท 

 

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ศักยภาพในพื้นที่สามารถดึงออกมาได้อีก โดยตนได้สนับสนุนให้มีการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน นั่นคือการทำนมแพะพาสเจอไรซ์ และการทำไอศกรีมที่ทำจากนมแพะ ซึ่งตนได้ลงทุนเงินไปเป็นจำนวน 1.8 ล้านบาท แต่โชคไม่ดีที่มาเจอวิกฤตโควิดหลังจากที่เปิดกิจการได้ไม่นาน จึงทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ถึงอย่างนั้นแล้ว 2 ปีกว่าที่ผ่านมา นมแพะได้ทำรายได้ให้กับพนักงานถึง 2.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ้างงานที่มั่นคง และได้เข้าถึงประกันสังคม รวมถึงได้จ้างงานทางอ้อม ทำให้เกษตรกรที่ทำฟาร์มแพะมีงานทำ มีรายได้อีก 8 ครัวเรือน รวมรายได้ที่ซื้อนมจาก 8 ครัวเรือนนี้แล้วเป็นเงินกว่า 1.7 ล้านบาทในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และกล่าวเสริมว่า นี่เป็นการนำศักยภาพและวิถีชีวิตของชุมชนมาแปรรูปให้เกิดเศรษฐกิจ

 

อีกทั้งได้มีการเสนออีกหนึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มียุทธศาสตร์ โดยถ้าหันไปมองตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะพบว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ามูลค่าเศรษฐกิจไทยกว่าสองเท่าตัว โดยมาเลเซียมีประชากร 32.2 ล้านคน และอินโดนีเซียมีประชากรกว่า 273.5 ล้านคน เทียบกับประชากรไทย 67 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจมาเลเซียมีมูลค่ากว่า 333.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของอินโดนีเซียมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจไทยเล็กเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นของตลาดสองประเทศรวมกัน หมายความว่ามันมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่มาก ด้วยเหตุผลทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จะมีคนไทยที่ไหนเหมาะสมที่จะเป็นทูตการค้าที่จะนำสินค้าของไทยไปค้าขายกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย มากไปกว่าคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตนคิดว่าการมองทั้งสองประเทศในฐานะตลาดเพื่อที่จะสร้างงานให้กับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น Game Changer ที่สำคัญ 

 

ธนาธรได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการศึกษาอย่างในจังหวัดปัตตานี มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อและมีความสามารถ ซึ่งถ้าสามารถทำให้ ม.อ.ปัตตานี กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรมมลายู ก็จะเกิดนักท่องเที่ยว นักเรียน เข้ามาในพื้นที่ และถ้าทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมฮาลาลขนาดใหญ่ ที่นำเข้าวัตถุดิบจากหลายๆ พื้นที่มาแปรรูปและเกิดมูลค่าเพิ่ม จนสามารถส่งออกไปในตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ใหญ่เป็นสองเท่าของประเทศไทยได้ ก็จะเกิดการจ้างงานขึ้น 

 

อีกทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีด่านการค้ามากมาย รวมถึงจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ที่ควรจะเชื่อมโยงกันในด้านการเดินทาง และถ้าสามารถเชื่อมโยงด่านการค้าเหล่านี้ได้ สิ่งที่กำลังพูดถึงก็จะเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งธนาธรได้แสดงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การค้าชายแดน อำเภอสะเดา ปาดังเบซาร์ และอำเภอเบตง มีมูลค่ากว่า 4.9 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ก่อนช่วงวิกฤตโควิด 

 

ซึ่งในปัจจุบันการคมนาคมยังไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการคมนาคมมีประสิทธิภาพขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรถบัสหรือรถไฟที่สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งหมดเข้าหากัน ที่เพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทางลง การค้าขายก็จะเติบโตขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งจะลดปัญหารถติด อีกทั้งมลพิษทางอากาศ และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสองข้างทางและสองข้างรางในเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าทำการคมนาคมตรงนี้ได้ จะเกิดการลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ยังเอื้อให้เอกชนและนักท่องเที่ยวขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

 

ธนาธรกล่าวถึงมาตรการสุดท้ายในด้านสังคมและวัฒนธรรมว่า เราต้องทำ 3-4 อย่างด้วยกัน นั่นคือเปิดพื้นที่การเรียนรู้และการส่งต่อทางวัฒนธรรม เราต้องเข้าใจว่าปาตานีเคยเป็นรัฐของตัวเองมาก่อน มีวัฒนธรรม มีพื้นเพ มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ในการส่งต่อซึ่งวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พื้นที่กลางแจ้ง หรือศูนย์เยาวชน

 

“โอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย คืนความเป็นธรรมให้กับการตีความทางด้านวัฒนธรรม ยอมรับคุณค่าที่แตกต่าง และที่สำคัญ รัฐไทยต้องเลิกยัดเยียดอัตลักษณ์ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรเสนอต่อไปว่า เราต้องสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม นำอัตลักษณ์ในพื้นที่มาสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน และสิ่งหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว มีคนพยายามทำและผลักดันที่จะแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพื้นที่ดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น Patani Artspace ที่เป็นการรวมกลุ่มกันทำของภาคเอกชน ซึ่งเป็นการนำเสนอศิลปะมลายู ศิลปะของท้องที่ดั้งเดิม จนกลายเป็นแกลเลอรีที่โด่งดังในหมู่นักศิลปะและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมในปาตานี ในส่วนตรงนี้ ถ้าภาครัฐมีการเข้ามาสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไปได้ไกลและเร็วแค่ไหน

 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมาคือย่านเมืองเก่าของปัตตานี ซึ่งมีเรื่องเล่าต่างๆ และความหลากหลายมากมายที่อยู่ที่นั่น ซึ่งถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่ามิได้มีแค่ชาวมลายูเพียงกลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่ที่ปาตานีมาก่อน แต่ยังมีชาวจีน ชาวไทย ที่อยู่มาก่อน และก่อนหน้านี้ทุกคนก็ทำการค้าขาย รวมถึงอยู่ด้วยกันอย่างสันติมาโดยตลอด มากไปกว่านั้น ถ้านำเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์เหล่านี้มาสร้างชุมชนและการท่องเที่ยว ทั้งชุมชนก็จะได้ประโยชน์ อีกทั้งผู้ที่รักและศึกษาความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรม ถ้ามีพื้นที่ให้พวกเขาได้ไปเรียนรู้ พวกเขาก็จะได้ประโยชน์ นักท่องเที่ยวก็จะมีกิจกรรมทำมากขึ้น

 

ธนาธรกล่าวปิดท้ายว่า “เราอยากเห็นสันติภาพ เราอยากเห็นประชาชนทุกความเชื่ออยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ เราอยากเห็นประชาชนมีงานทำ งานที่มีคุณค่า งานที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เราอยากเห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับการเชิดชู และเราอยากเห็นท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตัวเอง สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่ามนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นยูเครน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ ไม่ว่าจะเป็นไทยมุสลิม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผมเชื่อว่าพวกเราต่างแสวงหาสันติภาพ ไม่ได้แสวงหาสงคราม และผมเชื่อว่าการจะสร้างสันติภาพนั้น เราต้องอยู่ด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ อยู่ด้วยกันอย่างยอมรับซึ่งตัวตนและอัตลักษณ์ของเพื่อนร่วมโลก อยู่ด้วยกันด้วยความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X