กลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง ‘แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง’ ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก
โดยขึ้นภาพเงาปริศนาคู่กับ โจชัว หว่อง แกนนำการประท้วงที่ฮ่องกง พร้อมกล่าวว่ามีบางคนไปพบ และการที่ โจชัว หว่อง มาไทย เคยมาพบกับใคร มาไทยเพื่อวางแผนหรือสมคบคิดอะไรหรือไม่
วันเดียวกัน (11 ตุลาคม) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้แจงภาพถ่ายคู่ดังกล่าวดังนี้
ผมกับ โจชัว หว่อง: คำชี้แจงกรณีภาพถ่ายระหว่างผมกับ โจชัว หว่อง
เนื่องจากมีความพยายามจะเชื่อมโยงว่าผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับความไม่สงบและกลุ่มผู้ประท้วงจากภาพคู่ระหว่างผมกับ โจชัว หว่อง ผมขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
1. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากนิตยสาร The Economist ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก ให้ไปพูดที่งาน Open Future Festival ที่ฮ่องกง ในหัวข้อเรื่อง ‘Inside the Minds of Asia’s Next Gen Politicians’ ซึ่งในวงเสวนาของผมมีผู้ร่วมรายการ 2 คน ได้แก่ ทิม วิลสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหัวก้าวหน้าจากออสเตรเลีย และนูรุล อิซาฮ์ อันวาร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมาเลเชีย ลูกสาวของคุณอันวาร์ อิบราฮิม นูรุลมาไม่ได้ เนื่องจากติดภารกิจ บนเวทีเสวนาจึงเหลือเพียงผมกับทิม
2. หลังจากที่งานเลิกแล้ว ผมและ โจชัว หว่อง พบกันในบริเวณงานและได้คุยกันประมาณ 5 นาที เราถ่ายรูปด้วยกันและแยกย้ายกันหลังจากนั้น
3. นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมพบปะกับ โจชัว หว่อง ผมไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ ในฮ่องกง และไม่มีเจตนาที่จะทำในอนาคต ภารกิจของผมและพรรคอนาคตใหม่คือการสร้างประชาธิปไตยและความก้าวหน้าของสังคมไทย
4. การสนทนาและถ่ายรูปกันในหมู่ผู้พูดในงานสัมมนาต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ผมเองก็ได้ถ่ายรูปร่วมกับหลายคนในงาน รวมทั้งกับ ฌอน แอล. เรียน และมีโอกาสสนทนากับเขาในหลายๆ เรื่องมากกว่าที่ผมสนทนากับโจชัวเสียอีก ฌอนมาจาก China Market Research Group ผู้เขียนหนังสือ The War for China’s Wallet เขาวิพากษ์วิจารณ์การประท้วงในฮ่องกงและขึ้นเวทีถกเถียงกับ โจชัว หว่อง
5. ในเวทีสัมมนานานาชาติเช่นนี้ การพบปะพูดคุยกับคนที่มีความคิดหลากหลายเป็นธรรมดาและเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ความเห็นที่หลากหลาย เช่น กรณีของฌอนซึ่งยืนยันแนวทางการเมืองของปักกิ่ง แต่ก็เสนอว่าการแก้ปัญหาฮ่องกงต้องลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงคนส่วนใหญ่ด้วย ฌอนยังชวนผมไปพบเขาหากผมมีโอกาสไปปักกิ่งอีก (ผมแนบรูปคู่ระหว่างผมกับฌอนมาที่นี้ด้วย)
6. ผมได้พูดถึง ‘ฮ่องกง’ ในระหว่างที่ผมบรรยายอยู่บนเวทีจริง ผมกล่าวว่าเมื่อปลายปี 2560 ตอนที่ผมและเพื่อนๆ กำลังตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช. เราครุ่นคิดกันว่าจะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) หรือพรรคการเมือง (ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เล่าผ่านหลายสื่อในหลายวาระและโอกาสแล้ว) โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหญ่ และฮ่องกงชวนให้เราคิดถึงโมเดลขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่สุดท้ายเราตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองและต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบรัฐสภาแทน เนื่องจากความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ยังคงบาดลึกอยู่ในสังคมไทย
7. ถ้าจะถามผมต่อเรื่องฮ่องกง ผมสนับสนุนการเคารพธรรมนูญการปกครองฮ่องกงหรือ Basic Law ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อฮ่องกงถูกส่งคืนสู่เขตอำนาจอธิปไตยของจีน โดยยึดหลัก ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อย่างสมดุล และเคารพสิทธิการเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงอย่างเป็นประชาธิปไตยตามที่ระบุไว้ใน Basic Law มาตรา 45
8. ผมสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสันติเสมอมา ผมปรารถนาที่จะเห็นสถานการณ์ที่ฮ่องกงคลี่คลายไปได้ด้วยดี ผมไม่ปรารถนาเห็นการใช้ความรุนแรงต่อทั้งพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการฟื้นฟูความเชื่อถือและไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับพลเมืองขึ้นมา ไม่ดำเนินการหรือใช้มาตรการใดๆ ที่ไม่สมควรแก่เหตุ
9. รูปถ่ายระหว่างผมกับ โจชัว หว่อง เพียงภาพเดียวถูกนำมาขยายความต่อเกินความจริงโดยปราศจากหลักฐานยืนยันใดๆ สื่อ กลุ่มคนบางกลุ่ม รวมถึงผู้นำกองทัพพยายามเชื่อมโยงผมกับความไม่สงบในฮ่องกงเพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย
ผมขอให้ทุกท่านรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และขอยืนยันอีกครั้งว่าเราสร้างพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศสู่ประชาธิปไตย สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม และส่งต่อสังคมที่ดีกว่านี้ให้แก่คนรุ่นต่อไป
ภาพ: Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: