×

ธนาธร-ไอติม ร่วมเวทีถกหาฉันทามติรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นพ้องดึงทุกฝ่ายเข้าร่วม ปลุกความหวังประชาชนประเทศไปต่อได้

โดย THE STANDARD TEAM
21.08.2019
  • LOADING...
ธนาธร-ไอติม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พรรคอนาคตใหม่ จัดเวทีเสวนาตามแคมเปญ ‘จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน’ ซึ่งเป็นการรณรงค์และหาฉันทามติร่วมกันสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยวิทยากรบนเวทีได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ศรีสมภพ จิตร์ภิรรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบท นักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม, พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม นักการเมืองอิสระ โดยมี เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

‘ธนาธร’ ชี้ รธน. 60 ทำรัฐประหารให้มีความถาวร

 

ธนาธร กล่าว่า สิ่งที่จะนิยามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ดีที่สุด คือเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การรัฐประหารมีความถาวร ยึดอำนาจแล้วยังมีความต้องการสืบทอดอำนาจอยู่ ทำให้สภาวะอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกลายเป็นสภาวะถาวร ทำให้กลุ่มคนที่ยึดอำนาจจากประชาชนมาครองอำนาจได้อย่างถาวร ซึ่งที่ตนเกรงกลัวมากที่สุดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือความตึงเครียดทางสังคม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้อำนาจในการจัดสรรงบประมาณถูกรวมศูนย์ เป็นระเบิดเวลา ไม่ช้าก็เร็วความตึงเครียดที่สะสมอยู่ในเนื้อหาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะระเบิดออกมา มีการบาดเจ็บล้มตาย ที่ผ่านมาพอแล้ว ไม่ควรมีใครต้องบาดเจ็บล้มตายเพราะความเห็นต่างทางการเมืองกันอีก เราจึงควรต้องรีบทำเรื่องนี้ ก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนี้จะระเบิดออกมา 

 

“สิ่งที่เราต้องการก็คือการสร้างข้อตกลงใหม่ แต่ข้อตกลงใหม่ในที่นี้ต้องมาจากการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาทุกคนไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรคุณต่างเป็นเหยื่อของสิ่งที่เกิดขึ้น ราคายางตกลงจะใส่เสื้อสีอะไรก็ได้รับผลกระทบ การศึกษาที่แย่ลงจะใส่เสื้อสีอะไรก็ได้รับผลกระทบ ที่น่าสนใจคือ เราทุกคนไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน แต่เราควรพร้อมจะมานั่งคุยกัน แล้วใครชนะหัวจิตหัวใจของประชาชนได้ก็ไปสร้างสังคม สร้างโรงพยาบาลแบบที่เราอยากเห็นและสัญญาไว้กับประชาชน ข้อตกลงที่เราจะสร้างขึ้นใหม่ไม่ควรทำให้ผู้ชนะกินรวบทั้งกระดาน หรือผู้แพ้รอนับวันเอาคืน และอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการมองอดีต มองประสบการณ์สิบกว่าปีที่ผ่านมา ว่ามันได้ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง ถ้าจะให้พูดอย่างตรงไปตรงมา ตนคิดว่าทุกฝักทุกฝ่ายต่างมีส่วนทำให้สังคมไทยมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งนั้น” ธนาธร กล่าว 

 

ธนาธร กล่าวด้วยว่า สังคมไทยก็เหมือนทุกสังคมในโลก มีบริบทเฉพาะตัว มีประวัติศาสตร์ มีบทเรียนที่แตกต่างกัน คงจะเอารัฐธรรมนูญของประเทศใดประเทศหนึ่งก๊อบปี้มาเป็นของเราเองไม่ได้ เราคงต้องเอาการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาของเรา เอาความเจ็บปวด เอาประวัติศาสตร์ของเราเองมาใช้ โดยประชาชนมาร่วมกันออกแบบ การรัฐประหารหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนให้กับเราได้อย่างหนึ่งว่า การออกนอกเส้นทางประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนของประเทศนั้นทำไม่ได้ ที่มา เนื้อหา และกระบวนการของการทำรัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย กรอบที่ตนคิดว่าสามารถมีร่วมกันได้ทุกฝ่าย คือ 1. ต้องเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน 2. ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 3. ต้องมีรัฐสภาที่ตอบสนองต่อเจตจำนงของประชนชน 4. ต้องมีระบบนิติรัฐที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทั้งสามฝ่ายได้ ประชาชนต้องได้รับประกันสิทธิและเสรีภาพ นี่น่าจะเป็นกรอบที่เราทุกฝ่ายเห็นร่วมกันได้

 

‘ศรีสมภพ’ ลั่น ทำไมต้องทนกับสิ่งที่เราไม่ได้ออกแบบ

 

ด้าน ศรีสมภพ กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองปัจจุบัน คือการมีส่วนร่วมของประชาชน และสิทธิเสรีภาพไม่ครบถ้วน เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีความยุติธรรมและโอกาสที่เท่าเทียมกันในทางการเมือง หัวใจคือกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองผ่านรัฐสภาไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะทุกอย่างถูกล็อกเอาไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกล็อกไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยกฎหมายต่างๆ ตามมาด้วยกระบวนการเรื่องการจัดการงบประมาณและแผนของชาติ ที่ถูกควบคุมไว้หมดแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตนอยู่ ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยแผนบูรณาการ ที่ถูกควบคุมโดยฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายที่มาจากข้างบนอย่างเดียว สภาก็ไม่มีสิทธิที่จะไปแก้ไขเรื่องแผนพวกนี้ เพราะทุกอย่างถูกล็อกเอาไว้แล้ว หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ซึ่งอยู่อย่างนี้ไม่ได้

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้คือความกลัวในความไม่แน่นอน ว่าบ้านเมืองจะอยู่รอดหรือไปได้ดีหรือไม่ นี่คือความจำเป็นที่เราต้องมาสร้างข้อตกลงกันใหม่ ที่ไม่ใช่คนอื่นมากำหนดให้ แต่มาจากประชาชนที่เราเห็นพ้องต้องกัน แล้วช่วยกันร่างกติกาใหม่ในสังคมที่ดี และเป็นกติกาที่ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เพื่อให้เราสามารถดึงพลังสร้างสรรค์ของทุกคนมาชี้นำการแก้ปัญหาอนาคตที่ไม่แน่นอนของเราได้ ทำไมเราถึงต้องไปฝากความหวังไว้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เราไม่ได้ออกแบบ ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกปิดกั้นอยู่ หากเราปลดล็อกกุญแจนี้ได้ก็จะมีหนทางมากขึ้น มาตราที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการแก้ไขก่อน หลังจากนั้นคือการสร้างพลังจากข้างล่างขึ้นไป ให้มันผุดขึ้นมาเหมือนอย่างที่มันเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 40 จะทำได้อย่างไรที่จะให้ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เกิดการพูดคุย เกิดเป็นกระแสขึ้นมา มันก็จะทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกัน และต้องไม่ใช่เป็นเรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรื่องของนักการเมือง แต่มันจะต้องเป็นความต้องการของประชาชนร่วมกัน” ศรีสมภพ กล่าว 

 

‘หมอจุ๊บ’ หวังเห็นฉันทามติจากฐานราก ประชาชนร่วมออกแบบ

 

นพ.สุภัทร กล่าวว่า สำหรับตนแล้ว สภาวะทางการเมืองและระบบการเมืองที่เป็นอยู่ ต้องมองไปที่ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก รัฐราชการเข้มแข็งอย่างชัดเจน มีข้อดีอยู่อย่างเดียว คือไม่มีปัญหาสีเสื้ออย่างที่ผ่านมา เราทุกคนเห็นชัดว่า  รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของ คสช. ปัญหาทุกวันนี้อำนาจตกอยู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต้องเน้นไปที่เรื่องการกระจายอำนาจ การเมืองต้องไม่ใช่การเมืองส่วนบนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ต้องลดอำนาจรัฐส่วนบนลงมาให้ได้ และการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบเดียว ทั้งนี้ การที่สังคมไทยจะแสวงหาฉันทามติใหม่หรือข้อตกลงร่วมกัน คิดว่าการได้มาของฉันทามติเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ตนยังไม่เชื่อในผู้มีอำนาจที่อยู่ข้างบน แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้โดยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เราต้องการการมีส่วนร่วมที่มาจากฐานราก มีส่วนร่วมกันในสังคม ต้องทำให้ความคิดของคนทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียว 

 

“ทุกวันนี้ชาวบ้านยังไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาให้เขาได้ ถึงแม้จะยากในการเริ่มต้น แต่พลังของเราทุกคน ตนเชื่อว่าจะสามารถมีฉันทามติที่มาจากฐานราก จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในที่สุด ส่วนการเริ่มต้นการหาฉันทามติในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าเราต้องเริ่มจากตัวเราเอง การแก้รัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นมาก ใครถนัดเรื่องไหนก็ส่งเสริมเรื่องนั้น สำหรับรัฐธรรมนูญธงเขียนในช่วง 2540 นั้น หัวใจครั้งแรกคือการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. หัวใจสำคัญคือการทำให้คนเห็นความหวัง หากทำให้ประชาชนเห็นถึงความหวัง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็จะไปต่อได้ อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญ แก้เพื่อที่จะให้ประเทศไปต่อได้ ปัจจุบันไปต่อไม่ได้เพราะอำนาจอยู่ส่วนกลาง หัวใจของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการส่งต่ออำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ถ้าจะมีม็อบควรไปที่เทศบาลในจังหวัด ไม่ใช่เข้าไปในกรุงเทพฯ การกระจายอำนาจคือการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองได้ และมีความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป” นพ.สุภัทร กล่าว

 

‘ไอติม’ ชี้ต้องมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น 

 

ขณะที่ พริษฐ์ กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศไหนในโลก ประชาธิปไตยกำลังเจอความท้าทายอย่างรุนแรงสองด้าน 1. กระบวนการ กติกาไม่เป็นประชาธิปไตย หลายๆ ประเทศกำลังถดถอย เช่น จีน ที่มีการเพิ่มวาระการเป็น ปธน. ให้อยู่ในอำนาจตลอดชีวิต 2. เนื้อหาสาระ ที่ไม่ได้ถูกจัดการให้สอดคล้องกับหลักการความเสมอภาค ความเสรีภาพ อันเป็นปัจจัยหลักของประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่บริหารประเทศด้วยความที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย มีการแต่งตั้งพรรคพวกเข้ามาบริหารประเทศ มีการแทรกแซงสื่อ แทรกแซงศาล

 

“สำหรับในประเทศไทย เมื่อมองในด้านกระบวนการ กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ย้อนไปตอนเลือกตั้งเมื่อต้นปี ทำให้ไม่แน่ใจว่ากลับมาสู่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการตีความ การคำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ว. 250 คน ที่สามารถหยุดยั้ง สกัดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชนได้ ขณะที่เมื่อเรามามองในส่วนของเนื้อหาสาระ ยิ่งทำให้ไม่แน่ใจเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจ การแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ป.ป.ช. กกต. ล้วนถูกตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศที่คิดเหมือนกัน การที่เราจะอยู่ร่วมกันก็คือฉันทามติที่จะนำไปสู่กติกาที่เป็นกลาง ถ้าเราไม่มีฉันทามติระหว่างทุกภาคส่วนของประชาชน ในกติกาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ท้ายที่สุดแล้วเราจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างได้ และก่อนที่จะมาพูดถึงเนื้อหาฉันทามตินั้น ต้องมีเงื่อนไข สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อฉันทามติใหม่ คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเปิดมุมมองอะไรที่หลากหลาย การอธิบายด้วยเหตุผล นำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีฉันทามติ หากไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราต้องพูดคุยกับคนที่เห็นต่างกับเราให้มากที่สุด พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เจอคนที่เห็นต่างมากที่สุด แสวงหาจุดร่วมที่เห็นพ้องต้องกัน” พริษฐ์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X