×

ธนาธร โยนคำถามรัฐบาลจัดซื้อวัคซีนเอื้อเอกชน ชี้ ‘แทงม้าตัวเดียว’ หวังผลทางการเมืองบนผลประโยชน์ประชาชน อนุทินโต้ ‘มือไม่พายอย่าเอาอะไรมาราน้ำ’

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2021
  • LOADING...
ธนาธร โยนคำถามรัฐบาลจัดซื้อวัคซีนเอื้อเอกชน

วานนี้ (18 มกราคม) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ ‘วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?’ เปิดเผยข้อมูลว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย ทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม

 

ธนาธรระบุว่า การที่คนไทยได้วัคซีนช้า และไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 เป็นอย่างมาก ขณะหลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรแล้ว แต่การที่ประเทศไทยได้วัคซีนช้า ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มได้ล่าช้า และเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

 

ธนาธรระบุว่า เหตุผลที่รัฐบาลหาวัคซีนได้ช้าก็เพราะประมาท ไม่ได้ใส่ใจในการเร่งจัดหาวัคซีนอย่างเหมาะสมทันท่วงที และเมื่อเจรจาได้เพียงบริษัทเดียวก็ไม่มีความพยายามเจรจากับบริษัทอื่นๆ อีกเท่าที่ควร โดยเปิดเผยไทม์ไลน์พบว่า บริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ขณะที่ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากคือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น

 

“กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว วันนี้กำลังการผลิตของบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ ได้ถูกจับจองไปเสียมากแล้ว นั่นก็เพราะรัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนมาเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างความนิยมทางการเมือง จนละเลยการหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า รัฐบาลพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียวหรือไม่ 

 

“ประเทศไทยมีวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ความรวดเร็วในการฉีดก็น้อยกว่าประเทศอื่น ก็เพราะการฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย เรามีตัวเลือกอื่นๆ ที่สามารถเจรจาได้มากมาย ประเทศส่วนใหญ่บนโลก ไม่มีประเทศใดที่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และส่วนใหญ่จะใช้การจัดซื้อจัดหาคละบริษัทกันไป”

 

อีกประเด็นที่ธนาธรได้ตั้งข้อสังเกตผ่านการไลฟ์คือ โครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%

 

สำหรับกรณีของบริษัท AstraZeneca ที่มีปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization-CMO) กับบริษัท Siam Bioscience โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดส จะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย

 

AstraZeneca เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก กระจายวัคซีนออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมีคู่ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Siam Bioscience ที่เป็นฮับของการผลิตวัคซีนในครั้งนี้

 

Siam Bioscience มีบริษัทที่เกี่ยวข้องสองบริษัท คือบริษัท Siam Bioscience ที่ดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และผลิต กับบริษัท Apexcela ที่ดูแลด้านการขาย การตลาด และการกระจายสินค้า ทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ ซึ่งก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

 

ในยุคก่อตั้ง บริษัท Siam Bioscience เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล มีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตวัคซีน

 

ซึ่งจากข้อมูลที่สามารถหามาได้ จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือ Siam Bioscience ยังไม่มีบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า บริษัทสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเกือบ 100% ที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาให้ประชาชน

 

นอกจาก Siam Bioscience จะได้ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างผลิตวันซีน 200 ล้านโดสต่อปีให้กับ AstraZeneca แล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector 1,449 ล้านบาทอีกด้วย 

 

ธนาธรได้อ้างอิงถึงข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีกรรมการท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมา ถึงข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เนื่องจากเป็นการให้งบประมาณจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน และขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ให้ประชาชนทราบด้วย

 

“นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทย เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับคนไทยหรือไม่ ตกลงมันเป็นเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองหรือไม่” 

 

ธนาธรกล่าวต่อว่า ถ้าย้อนมาดูเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีการอนุมัตินโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2563-2565 ชื่อของ AstraZeneca และชื่อของ Siam Bioscience ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนนี้มาก่อน มีการเสนอชื่อองค์กรเข้ามาหลายองค์กร คือ 1) สถานเสาวภา 2) Bionet-Asia 3) องค์การเภสัชกรรม 4) บริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP) 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล 6) โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และ 7) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เท่านั้น ชื่อของ Siam Bioscience เพิ่งจะโผล่ขึ้นมาในไตรมาส 2 หลังจากแผนนี้ออกมาแล้ว

 

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าการจัดหาวัคซีนในลักษณะนี้ จะเป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับ AstraZeneca และ Siam Bioscience มากเกินไปหรือไม่ จะเป็นการลดโอกาสในการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้วัคซีนครอบคลุมประชากรที่สุดหรือไม่

 

ธนาธร ยังตั้งคำถามถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกว่า การอนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชน

 

ในช่วงสุดท้ายธนาธรได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลได้ทำตามสิ่งที่เราเสนอตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่ว่ารัฐบาลจะต้องเจรจาหาวัคซีนให้เร็ว ให้ครอบคลุม ฉีดให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ไม่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่สร้างความนิยมทางการเมืองบนผลประโยชน์ของประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วกว่านี้ ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ เดินเกมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ไม่ใช่การยึดเอาการสร้างความนิยมทางการเมืองมาเป็นปัจจัยหลักมากกว่าชีวิตของประชาชน จนทำให้เกิดทั้งความล่าช้าและไม่ครอบคลุมเช่นนี้

 

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ธนาธร วิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล และเชื่อมโยงกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ว่า คนที่พูดเรื่องนี้ เหมือนกับจะรู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่สิ่งที่ไม่รู้อย่างเดียวคือ ไม่รู้จักพระมหากรุณาธิคุณ ว่าประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้ใครเป็นคนให้กำเนิดการแพทย์ การสาธารณสุข ใครเป็นคนวางรากฐานระบบการสาธารณสุขและการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก ทำให้ประชาชนมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี และใครเป็นคนพระราชทานสิ่งของต่างๆ ตลอดระยะเวลาเป็นร้อยๆ ปี เมื่อประเทศไทยมีภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

 

“เราไม่ต้องจำยาวๆ เอาใกล้ๆ เนี่ย รถตรวจหาเชื้อโควิด-19 20 คันใครเป็นคนให้ ชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) เป็นล้านๆ ชุดใครเป็นคนให้ เวชภัณฑ์ ทุนทรัพย์เป็นพันๆ ล้าน ที่มอบให้กับคณะแพทย์ไปปรับปรุง ไปลงทุนในระบบการสาธารณสุข และการแพทย์ ใครเป็นคนพระราชทานให้ เคยไปไหมโรงพยาบาลต่างจังหวัด แล้วเห็นระบบปรับอากาศ ระบบที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญได้เข้าถึงสาธารณสุข ไม่แพ้เมืองใหญ่” 

 

อนุทิน ระบุว่า อยากให้คนที่ออกมาพูดไปทำการบ้านตรงนี้มาก่อนว่าใครทำอะไร และค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมย้ำว่าวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ที่ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไม่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นประเด็น จึงขอให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองตอนนี้ให้มากที่สุด และปล่อยให้แพทย์เป็นผู้ดำเนินการ เราไม่ใช่แพทย์ เราทำเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ได้อีกมาก

 

“ถ้าไม่ได้ทำอะไร พูดอะไรก็ได้หมด ดังนั้นถ้าอยากทำอะไรอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็ต้องทำให้ตัวเองเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ได้ก่อน” 

 

ส่วนเมื่อถามว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง หรือฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ อนุทิน ระบุว่า ก็แล้วแต่การพิจารณาของส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่พูดเป็นการย้ำถึงหลักการเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้ดู แต่ได้สอบถามรายละเอียดจากคนใกล้ชิด และบอกถึงความรู้สึกว่า “ที่เราอยู่กันมาได้ถึงวันนี้ ถ้าไม่มีตรงนั้น ความเข้มแข็งก็คงไม่เกิด และช่วงบ่ายนี้ก็จะไปรับพระราชทานชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) อีก 7 แสน 7 หมื่นชุดมีใครให้บ้าง มือไม่พาย ก็ไม่ต้องเอาอะไรมาราน้ำ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X