×

ธนาธร คณะก้าวหน้า ร่วมเอกชน-ศิษย์เก่าวิศวะฯ จุฬาฯ-ทีมแพทย์ ผลิตห้องตรวจโรค-เตียงแรงดันลบ ให้โรงพยาบาลฟรี

โดย THE STANDARD TEAM
21.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (21 เมษายน) คณะก้าวหน้า นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยภาคเอกชน บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ ได้ร่วมกันผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเป็นจำนวนมาก รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้อุปกรณ์ต่างๆ ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ คณะก้าวหน้าและภาคเอกชนตระหนักถึงปัญหานี้ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทย ในฐานะองค์กรเอกชน ที่มีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ที่เป็นที่ต้องการทางการแพทย์ จึงเริ่มระดมสมอง วางแผน กางข้อมูล เริ่มโครงการผลิตและมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น วัณโรค โดยรายละเอียดอุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ มีดังนี้

 

1) Modular ARI Clinic: ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการแรงดันบวก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบสำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อ/ผู้ถูกตรวจอีกด้านหนึ่ง ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดออกได้อย่างสะดวก

 

2) Patient Transportation Chamber: อุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้าย ด้วยระบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง 

 

อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ ได้ใช้ข้อมูลจากเพจ OpenSource COVID Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยมีบริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด, และกลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมระดับโลก ทั้งนี้อุปกรณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล

 

อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการมีเป้าหมายในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในพื้นที่โรงพยาบาล และในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับญาติมิตร ผู้เดินทางสัญจรทั่วไป ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความแข็งแรง สามารถติดตั้งถาวร เพื่อรับรองการรักษาโรคอื่นๆ ที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19, วัณโรค เป็นต้น

 

ทั้งนี้ คณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modular ARI Clinic จำนวน 11 ชุด และ Patient Transportation Chamber จำนวน 18 ชุด ให้กับโรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน และวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม 2563



 

สำหรับรายชื่อ 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ

 

  1. โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี
  2. โรงพยาบาลชลบุรี
  3. โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
  5. โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด 19 จังหวัดเชียงใหม่ (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่)
  6. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  7. โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  8. โรงพยาบาลยะลา
  9. โรงพยาบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี
  10. โรงพยาบาลสงขลา
  11. โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
  12. โรงพยาบาลกงหรา จังหวัดพัทลุง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising