วานนี้ (26 กันยายน) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 (ปปร.27) โดยสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้โจทย์ ‘การเมืองใหม่ในโลกปัจจุบัน’
ธนาธรระบุว่า ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันมีทั้งเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกหลายปีติดต่อกัน ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ 3 ครั้งล่าสุดมีการจัดอันดับ ประเทศไทยติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุด
และปัญหาใหญ่ที่มีแนวโน้มรุนแรงทวีคูณขึ้นในอนาคต นั่นคืออัตราการเกิดของประชากรที่ตกต่ำลงสวนทางกับอัตราการตายของประชากร ซึ่งสาเหตุนั้นผูกพันกับปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแยกไม่ได้ ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มต้องทำงานหนักขึ้นเพียงเพื่อให้ประเทศไทยยังยืนที่เดิมในด้านผลิตภาพ และการดูแลประชากรผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น
แนวโน้มของโลกวันนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ประเทศไทยไม่มีทางต่อต้านขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่ในสภาพปัจจุบันที่ประเทศไทยเติบโตช้ากว่าเพื่อน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยแข่งขันกับโลกได้อย่างไร และเราจะหางานให้คนจบใหม่และทดแทนคนทำงานที่เกษียณไปทุกปีได้อย่างไร เพราะอุตสาหกรรมที่พาประเทศไทยมาถึงวันนี้ ทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มาถึงทางตันแล้ว ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ ไม่ได้ คำตอบคือต้องมีการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ด้วยการสร้างเทคโนโลยี
ผมได้ยกตัวอย่างถึงงานที่คณะก้าวหน้าได้ทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น การทำน้ำประปาที่ดื่มได้ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ทำให้ดื่มได้ไปแล้ว ทำไอโอทีไปแล้ว และขั้นต่อไปคือการลดปริมาณน้ำที่สูญเสียจากระบบท่อรั่วหรือแตก แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กแต่ปัญหาน้ำประปาเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ครอบคลุมประชากรหลายล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท แต่ในขณะเดียวกันก็คือโอกาสที่เราจะแก้ปัญหาหลายเรื่องไปพร้อมกันได้
การทำให้น้ำประปาดื่มได้และการทำให้ระบบการคิดค่าน้ำประปาเป็นระบบไอโอทีที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ ทำให้กระบวนการเดินจดค่าน้ำ การออกบิล และการเก็บเงินเข้าคลังของเทศบาล ลดชั่วโมงการทำงานจากเดือนละ 42 ชั่วโมง เหลือแค่เดือนละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการหรือครับ ในการรับมือกับแนวโน้มสังคมสูงวัยที่ประชากรวัยทำงานจะลดปริมาณลงอย่างมาก นั่นคือการลดการทำงานลงแต่ได้ผลิตภาพที่มากขึ้น?
อีกด้านหนึ่ง การทำระบบไอโอทีที่ว่านี้ ทางนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอาจสามารถได้ตัดสินใจใช้งานบริษัทของคนไทยที่ทำสมาร์ทมิเตอร์ส่งออกไปยุโรปเป็นหลักแต่ไม่ค่อยได้ขายให้คนไทย ดูเป็นเรื่องเล็กอีกแล้ว แต่ลองคิดดูสิครับว่าถ้าเราปรับปรุงระบบน้ำประปาทั้งประเทศให้เป็นน้ำประปาดื่มได้และเป็นระบบสมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมด นั่นคือการเกิดขึ้นของห่วงโซ่อุปทานใหม่ๆ นั่นคืออุตสาหกรรมของคนไทย การจ้างงานคนไทย และการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยเองจะเกิดขึ้นในระดับที่ใหญ่มากแค่ไหน
นั่นคือการตอบโจทย์การสร้างเทคโนโลยี สร้างอุตสาหกรรมใหม่ และสร้างงานใหม่ๆ ให้กับคนไทย ที่จะตอบโจทย์การแข่งขันกับโลกได้ และถ้าเราทำสำเร็จก่อนหลายๆ ประเทศรอบเรา เรายังสามารถเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีไปให้กับโลกได้อีกด้วย
เพียงน้ำประปาแค่เรื่องเดียวสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานจำนวนมหาศาลได้แล้ว คิดดูสิครับว่าถ้าเรานำปัญหาของสังคมอื่นๆ ที่มีจำนวนมากมายมาทำแบบเดียวกัน นำปัญหามาแปรเป็นอุปสงค์ ใช้การลงทุนภาครัฐมาผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานและสร้างเทคโนโลยีในประเทศ เราจะเกิดการสร้างงาน สร้างเทคโนโลยี ทดแทนการใช้แรงงานด้วยเทคโนโลยีสำหรับประชากรวัยทำงานที่จะลดลงได้อีกมากมายมหาศาลขนาดไหน แต่ระหว่างการบรรยายก็มีผู้เรียนท่านหนึ่งถามผมขึ้นมาว่าการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่แบบนี้แม้จะดีมาก แต่จะมีกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์ขัดขวางแน่นอน แบบนี้จะทำได้เหรอ พอดีกับที่โจทย์ของผมซึ่งเตรียมมาบรรยายวันนี้ต่อไปเป็นการตอบคำถามนี้พอดี นั่นคือทำไมเราต้องมีประชาธิปไตยและมีการเมืองแบบใหม่?
ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศมีสถาบันการเมืองที่มั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย สิ่งสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญ หรือกฎกติกาสำหรับการอยู่ร่วมกัน
การที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเฉลี่ยทุก 4.5 ปี แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่มีฉันทมติร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาอย่างไร และตราบใดที่เรายังไม่ได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่มีความมั่นคงให้ประชาชนได้เรียนรู้ถูกผิดตามระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยก็ไม่สามารถก้าวหน้าไปได้ วันนี้มันสายไปแล้วที่จะเลือกทางเดินอื่น ประชาธิปไตยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกเดียว ประเทศไทยมาบนเส้นทางนี้ไกลเกินกว่าที่จะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แล้วการเมืองแบบใหม่เกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างที่หนึ่งในผู้เรียนตั้งโจทย์มา พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลหากมีแนวคิดที่จะพัฒนาในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง ย่อมมีกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์มาล็อบบี้ให้เลิกทำเสีย จุดตัดสำคัญว่าอะไรแบบนี้จะสำเร็จได้ไปต่อหรือไม่ คือพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลนั้น มีที่มาของเงินจากไหน มาจากการขอเงินคนละ 100-200 บาทจากประชาชนเป็นล้านๆ หรือมาจากเงิน 100-200 ล้านบาทจากนายทุนไม่กี่คน
ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลคือความสำเร็จของการเมืองแบบใหม่ที่เป็นไปได้ ตัวเลข 36.4% ที่พรรคก้าวไกลได้จากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่หลายคนบอกว่าพรรคก้าวไกลเก่งเรื่องการทำสื่อโซเชียลนั้น ผมคิดว่าจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือการทำงานอย่างหนักตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การทำในสิ่งที่หลายคนไม่เห็น ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง ลาภยศ ชื่อเสียง การยืนหยัดอยู่เคียงข้างคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำอย่างต่อเนื่องแม้ไม่มีใครเห็นหรือมีคนเห็นน้อยมาก พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาได้ด้วยการทำการเมืองแบบนี้ ด้วยความอยากเห็นการเมืองแบบที่รับใช้ประชาชน
นี่คือการเมืองที่เราอยากเห็นอยากสร้าง แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะมาก แต่ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ล้วนมีความเชื่อแบบเดียวกัน คืออยากทำให้ประเทศไทยเห็นว่าพรรคการเมืองที่ไม่ซื้อเสียง ไม่คอร์รัปชัน เป็นจริงได้
“การบรรยายวันนี้ผมสรุปให้ทุกท่านฟังว่าสิ่งที่ทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองพูดถูกคนละด้านก็คือประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจริง แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คอร์รัปชันน้อยแต่ก็เป็นประชาธิปไตยได้ คนที่เกลียดการคอร์รัปชันไม่ควรหันไปใช้การรัฐประหาร ส่วนคนที่เชื่อประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจริง และมีแต่การเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับการทำการเมืองแบบใหม่เท่านั้น ที่จะเป็นการสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับเราเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ที่ผมพูดถึงไปข้างต้นได้” ธนาธรระบุ
อ้างอิง: