พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ทำให้ก่อกำเนิด ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ นับถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ที่กองทุนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่แจกจ่ายทุนให้กับคนที่มีความตั้งใจ และยื่นข้อเสนอรับทุนไปพัฒนาสื่อดี
ทว่าในช่วงที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็ถูกสังคมตั้งคำถามถึงการให้ทุนตามที่เปิดรับข้อเสนอ ทั้งการให้เงินงบประมาณจำนวนมากในแต่ละโครงการ การให้ทุนเฉพาะบริษัทใหญ่ หรือให้ทุนกับองค์กรสื่อที่อาจจะเลือกข้างในทางการเมือง
THE STANDARD คุยกับ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทุกคำถาม พร้อมชี้แจงแบบกระจ่างชัด และพร้อมตอบทุกคำถามที่สังคมสงสัย
‘ธนกร ศรีสุขใส’ คือใคร
“จิตวิญญาณของ ธนกร ศรีสุขใส คือ ความเป็นสื่อ จิตวิญญาณของคนที่เชื่อในพลังของสื่อ ว่ามันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้”
เขาบอกว่านี่คือตัวตนเขา เพราะชีวิตเดินมาในเส้นทางนี้โดยตลอด แม้จะเรียนจบด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ลังเลเลยที่จะเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน
ธนกรเริ่มต้นชีวิตสื่อมวลชนที่หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ กว่า 20 ปีในวงการสื่อมวลชน ทำตั้งแต่เขียนข่าว อยู่ข่าวภาคสนาม ทั้งกระทรวงมหาดไทย รัฐสภา ทำข่าวการเมือง
กรุงเทพธุรกิจ–บางกอกโพสต์–เดอะเนชั่น–บางกอกโพสต์ นี่คือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาเคยอยู่ร่วมกองบรรณาธิการ และชิมลางงานวิทยุที่สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น ก่อนมาทำรายการโทรทัศน์อยู่หลายรายการ
และเข้าสู่เส้นทางองค์กรกำกับดูแลก็คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเป็นอนุกรรมการ กสทช. หลายคณะในช่วงปี 2555 จนถึงปี 2563 ก่อนที่จะได้นั่งเก้าอี้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“ผมจะบอกเสมอในฐานะผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วางใจผมได้ในเรื่องประสบการณ์ และตั้งแต่ผมแสดงวิสัยทัศน์แล้วว่า ผมเป็นผู้เล่นในสนามมาก่อน คือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เราเป็นคนข่าว เราเป็นสื่อมวลชน เราเป็นนักวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เราอยู่ในองค์กรกำกับดูแล
“เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมถึงมาเป็นผู้จัดการกองทุน เพราะว่ามันชอบทางนี้มาโดยตลอด แล้วก็เชื่อมั่นว่าสื่อดีต้องสร้างนะครับ แล้วต้องสร้างสื่อดีขึ้นเยอะๆ เพื่อที่จะไปลดทอนสื่อที่ไม่ดีทั้งหลาย”
เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมถึงมาเป็นผู้จัดการกองทุน เพราะว่ามันชอบทางนี้มาโดยตลอด แล้วก็เชื่อมั่นว่าสื่อดีต้องสร้างนะครับ แล้วต้องสร้างสื่อดีขึ้นเยอะๆ เพื่อที่จะไปลดทอนสื่อที่ไม่ดีทั้งหลาย
พลาดเก้าอี้ กสทช. เพราะ ม.44
ย้อนไปก่อนจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในปี 2562 ธนกรเคยเป็นว่าที่บอร์ด กสทช. ซึ่งมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก โดยกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเลือกแต่ละด้าน 2 เท่า มี 7 ด้าน ดังนั้นต้องเลือกผู้สมัครมา 14 คน
“ใน 14 คน หนักหนาสาหัส ทุกคนทราบดีคู่แข่งผมมีทั้ง พลเอก มีทั้งศาสตราจารย์ มีเยอะแยะไปหมดเลย ในที่สุดผมลงสมัครด้านวิทยุ ด้านกิจการกระจายเสียง ตอนนั้นก็ติดมา 2 คน เพราะเขาต้องเลือกมา 2 คน
หลังจากนั้นรายชื่อถูกส่งเข้าไปในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อเลือกจาก 14 ให้เหลือ 7 ทว่าไม่มีการเลือกเกิดขึ้น เพราะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ล้มกระดานการสรรหา และเมื่อเปิดรับสมัครรอบใหม่ ธนกรตัดสินใจไม่ลงอีก เพราะคิดว่าตรงนั้น ‘ไม่ใช่เวที’ ของตนเอง และคิดว่าปัจจัยแวดล้อมไม่อำนวยสำหรับคนแบบตนเอง
เส้นทางสู่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“ผมก็มาเล็งที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยความที่เรามีพื้นฐานกฎหมายมาก่อน ผมก็เปิดตำราเลย ผมต้องรู้จักกองทุนนี้ก่อนว่ากองทุนนี้เขาตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร กองทุนต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร มียุทธศาสตร์ มีวิสัยทัศน์ มีพันธกิจอย่างไร แล้วปัญหากองทุนคืออะไร ผมต้องรู้เกือบทุกด้าน”
ธนกรระบุว่า จากนั้นก็มีโอกาสมานำเสนอวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา ว่าตนนี่แหละที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ มีความพร้อม เราก็ให้ความมั่นใจว่าเรามีความพร้อม จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นผู้จัดการ
“คือถ้าไม่ยกยอตัวเองก็ต้องเรียกว่าเราฉายแวว ตั้งแต่เป็นว่าที่บอร์ด กสทช. และผมก็ไม่สมัครซ้ำหลังจากนั้น ผมก็ยังเป็นว่าที่บอร์ดอยู่ นึกออกไหม แต่ถ้าผมสมัครซ้ำและผมสอบตก ผมจะไม่ใช่ว่าที่บอร์ดอีกแล้ว (หัวเราะ)”
บทบาทของผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
หลายหน่วยงานที่เป็นองค์กรมหาชนใช้คำว่า ‘ผู้อำนวยการ’ แต่หน่วยงานที่เป็นกองทุนนี่ส่วนใหญ่จะใช้ ‘ผู้จัดการ’ คือทำหน้าที่รับนโยบายมาจากกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่ด้านนโยบายในการบริหารจัดการเงินในกองทุน จึงใช้คำว่าผู้จัดการกองทุน
“ผู้จัดการกองทุนก็เหมือนกับหัวหน้าหน่วยงาน หรือเหมือนกับ CEO คือต้องเสนอแผนงาน เสนอโครงการ เสนองบประมาณ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ เราก็มีหน้าที่ออกแบบ เสร็จแล้วก็ขับเคลื่อน”
ส่วนเรื่องการจัดการเงินกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในแต่ละปีจะได้เงินงบประมาณจาก กสทช. เป็นตัวเลขที่กำหนดคงที่ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี และขณะนี้ยังได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 500 ล้านบาท หน้าที่ของผู้จัดการคือต้องมาวางแผนการบริหารเงิน
ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนเงินเป็น 60/40 คือ 60 เอาไปเป็นทุนให้กับผู้ขอรับทุน และอีก 40 ก็ใช้ในส่วนของสำนักงาน
ผู้จัดการกองทุนก็เหมือนกับหัวหน้าหน่วยงาน หรือเหมือนกับ CEO คือต้องเสนอแผนงาน เสนอโครงการ เสนองบประมาณ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ เราก็มีหน้าที่ออกแบบ เสร็จแล้วก็ขับเคลื่อน
ทำไมต้องมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ธนกรระบุว่า การก่อตั้งขึ้นของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสื่อดี เพราะว่าสื่อส่วนใหญ่จะถูกขับเคลื่อนโดยธุรกิจ ไม่ก็ถูกขับเคลื่อนโดยการเมือง โดยรัฐบาลก็สร้างสื่อขึ้นมาเพื่อจะเป็นเครื่องมือ หรือช่องทางในการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ
“ส่วนที่เอกชนไปทำ แน่นอนที่สุดมันอาจมีความเป็นอุดมการณ์ในเชิงสื่อมวลชนอยู่ก็จริง แต่การดำเนินการในภาคธุรกิจมันต้องอยู่ได้ด้วยผลประกอบการ สื่อส่วนใหญ่ก็ต้องมองว่า คนดู คนชม ในฐานะเป็นลูกค้า ผู้บริโภคสินค้า ก็จะเป็นช่องทางในการที่จะขายสินค้า ไม่ใช่ไปขายความรู้ ขายความรู้คนอาจซื้อน้อย แต่ถ้าขายความอยากรู้อยากเห็น ความตื่นตาตื่นใจ มันจะทำให้คนดูเยอะ คนดูเยอะก็โฆษณาเข้าเยอะ”
ธนกรจึงตั้งคำถามว่า เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่ปลอดภัย สื่อที่สร้างสรรค์ ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรืออย่างน้อยก็ไม่ทะเลาะกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว ก็เลยมีแนวคิดตั้งกองทุนที่จะไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสื่อดี
ดังนั้น กสทช. ในฐานะเป็นผู้ที่กำกับดูแลกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม แล้วก็ได้เงินตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่และออกใบอนุญาต เงินเหล่านั้นก็มาเข้ากองทุนของ กสทช. เลยมองว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาเงินที่ กสทช. เก็บได้มาส่งเสริมสนับสนุนตรงนี้
“ถ้าใครถามสั้นๆ ว่า กองทุนสื่อทำอะไร ตอบตรงๆ เลยว่าทำ 3 อย่าง คือทำให้เกิดสื่อดี ไม่มีก็ต้องสร้าง ในขณะเดียวกัน ทำให้รับมือกับสื่อได้ และสามคือทำให้คนในสังคมได้มามีส่วนร่วม มาร่วมด้วยช่วยกันในการที่จะสร้างสื่อดี และรับมือสื่อร้าย”
กองทุนสื่อทำอะไร ทำ 3 อย่าง คือทำให้เกิดสื่อดี ไม่มีก็ต้องสร้าง ในขณะเดียวกัน ทำให้รับมือกับสื่อได้ และสามคือทำให้คนในสังคมได้มามีส่วนร่วม มาร่วมด้วยช่วยกันในการที่จะสร้างสื่อดี และรับมือสื่อร้าย
หลายคำถามที่สังคมสงสัยต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
-
ทำไมให้ทุนแต่บริษัทใหญ่?
“คนที่มาขอทุนเรา คนธรรมดาขอได้ เด็กนักเรียนขอได้ บริษัทขอได้ ในประสบการณ์ของกองทุน เราเห็นว่าเราใช้กติกาเดียว บางทีมืออาชีพอาจไปเบียดพื้นที่ของคนหน้าใหม่ ของคนเล็กคนน้อย เพราะฉะนั้นหลายต่อหลายครั้งที่เราก็ถูกครหา นินทา เวลาประกาศก็จะมีคำถามว่า ทำไมทุนใหญ่ยังได้ กองทุนให้แต่คนเล็กคนน้อยหรือ จริงๆ ไม่มีอะไรห้ามเลย แล้วเราต้องให้กลุ่มที่มีความหลากหลายด้วย แต่ว่าการที่ให้คนที่อ่อนแอกว่ากับคนที่แข็งแรงกว่ามาอยู่ในกติกาเดียวกัน อันนี้เป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย สำนักงานเองยังเคยพูดกับบอร์ดเลยว่า เรากำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะทำให้มีการปรับปรุง
“ถ้าดูแบบละเอียดนะ เวลาประกาศทุน เอามากางดูเลย ไซส์โครงการมีทุกไซส์เลย แล้วโครงการเล็กโครงการน้อย โครงการขนาดกลาง มีคละกันไปหมดเลย ไม่ใช่มีแต่โครงการใหญ่ๆ ปีที่ผ่านมามี 132 โครงการ”
-
ขอรับทุนแล้วไม่เคยได้?
“ทุนที่ให้ในแต่ละปีเทียบกับความต้องการมันแตกต่างกันมาก เรามีเงินอยู่ 300 ล้าน แต่เวลาเปิดขอทุน ข้อเสนอเข้ามารวมงบแล้วเฉลี่ย 5,000-6,000 ล้าน จากจำนวนข้อเสนอโครงการ 1,300-1,400 โครงการเกือบทุกปีเลย แต่ปี 2565 ปริมาณ 800-900 โครงการ แต่คุณภาพโครงการดีมากขึ้น แล้วพอประกาศ 120-130 โครงการที่ผ่านก็ประมาณ 10% คนสมหวัง 10% คนผิดหวัง 90% พอใครสักคนหยิบประเด็นมาพูดคนผิดหวังก็ต้องผสมโรงรออยู่แล้วคือก็เขาไม่ได้ เราก็เข้าใจนะครับ แต่ทุกคำถามเราพร้อมที่จะอธิบาย”
-
ให้ทุนกับสื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง?
“มีกรรมธิการฯ เรียกเราไปถามว่าโครงการที่ผู้เสนออาจจะมีแนวคิดทางการเมือง ถามว่าทำไมเราให้ทุนกับคนที่มีแนวคิดทางการเมือง เราก็ไปชี้แจงว่า เวลาเราดู เราดูเนื้อหารายการ เราจะไปบอกว่าคนนี้คิดแบบนี้ เคยขึ้นเวทีนั้น เคยวิพากษ์วิจารณ์คนนั้น บางทีมันก็คับแคบเกินไป ทุกอย่างเราอธิบายได้ แต่แน่นอนว่าทุกเรื่องมันไม่มีหรอกที่จะพอใจ 100% หรือว่าถูกใจ 100% แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่อธิบายได้ เราก็พยายามที่จะนึกถึงความสมดุลอยู่ แล้วเนื้อหาบางเรื่อง บางทีหาคนทำยากเหมือนกัน อย่างบางประเด็นคนขอเยอะมาก แต่บางประเด็นก็ยังน้อย”
-
กระบวนการคัดสรรโครงการไม่โปร่งใส?
“ให้เชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่ากองทุนมีกระบวนการกลั่นกรอง ที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนแล้วก็เปิดเผย ผมพยายามไปดูที่อื่นนะ ผมว่ากองทุนไม่อายใครเลยในเรื่องของกระบวนการในการพิจารณาทุน ของเราคิดว่าสาธารณะรู้ได้หมด และถามได้หมด บางปีมีกลับเข้ามาถามว่าทำไมโครงการเขาไม่ได้ โครงการนี้ทำไมได้ เขามาขอดูเอกสารภายใน ดูรายงานการประชุมได้ เราอธิบายได้หมด”
ถามว่าทำไมเราให้ทุนกับคนที่มีแนวคิดทางการเมือง เราก็ไปชี้แจง เราก็อธิบายไปว่า เวลาเราดู เราดูเนื้อหารายการ เราจะไปบอกว่าคนนี้คิดแบบนี้ เคยขึ้นเวทีนั้น เคยวิพากษ์วิจารณ์คนนั้น บางทีมันก็คับแคบเกินไป ทุกอย่างเราอธิบายได้
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับข้อเสนอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ประจำปี 2566 โดยโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนต้องมีระยะเวลาดำเนินโครงการหรือกิจกรรมไม่เกิน 1 ปี กรอบงบประมาณในการพิจารณาอนุมัติทุกโครงการหรือกิจกรรมรวมแล้วไม่เกิน 300 ล้านบาท
โดยแบ่งการให้ทุนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- การให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) วงเงินไม่เกิน 90,000,000 บาท (เก้าสิบล้านบาทถ้วน)
- การให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) วงเงินไม่เกิน 170,000,000 บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบล้านบาทถ้วน)
- การให้ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) วงเงินไม่เกิน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาทถ้วน)
โดยสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th/