วานนี้ (27 มิถุนายน) รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงประเด็นการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้คือ 7 วันแห่งการต่อรองก่อนการเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคม และนายกรัฐมนตรี (ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้)
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจยึดหลักการเดิมคือได้ 14 รัฐมนตรี และ 1 ประธานสภา เป็นเกมการต่อรองกับพรรคก้าวไกล เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม และเกิดความพึงพอใจสูงสุดต่อพรรค ซึ่งอิงจากมติที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค
“ภาษาทางการเมืองเรียกว่าการชิงไหวชิงพริบ เป็นประเด็นของระบบการเมืองที่ออกแบบเพื่อพวกเขา (นักการเมือง) ไม่ใช่เพื่อพวกเรา (ประชาชน) และระบบการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วมหลายพรรคก็ต้องทำความพึงพอใจให้กับทุกพรรคมากที่สุด ก็เลยต้องต่อรอง เรื่องอะไรที่เจรจาได้ก็ต้องทำ เหมือนกับเรา (ประชาชน) อยากได้เงินเดือนขึ้น ก็เลยต้องเจรจากับเจ้านายกันบ้าง” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุว่า การเจรจาต่อรองในการโหวตประธานสภา นายกฯ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คงไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทย แต่พรรคก้าวไกลก็ทำด้วยเช่นกัน รวมถึงทุกพรรคการเมือง
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลที่มีผู้สมัคร ส.ส. มีอายุไม่มาก ย่อมมีความอ่อนน้อมและไม่ดื้อรั้นมากกว่าผู้อาวุโส ซึ่งหลายคนคงคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่น่าเข้าหา ส.ว. แต่ความเป็นจริงแล้วก็เข้าหา ส.ว. ทุกคน เพียงแต่ว่า ส.ว. คือนักการเมืองที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ หรือแสดงจุดยืนของตนเองบ้าง ทำให้หลายๆ คนอาจต่อต้านพรรคก้าวไกล
สิ่งที่น่าสังเกตคือภาษากายในระยะหลังของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มั่นอกมั่นใจในน้ำเสียง และการแสดงออกอย่างชัดเจนต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เชื่อว่า ลูกพรรคที่ประสานงานหรือเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนได้สร้างความเชื่อมั่นแก่พิธา โดยเฉพาะ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ที่เปรียบเหมือนเลขาคู่ใจของพิธา ด้วยบุคลิกของชัยธวัชที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และโอนอ่อนท่าทีต่อพรรคร่วม น่าจะเป็นตัวหมากสำคัญที่ทำให้พิธาและก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
“ไม่มีใครเถียงเลยว่าพิธาไม่ใช่นายกฯ เพียงแต่ทุกคนยังกังวลว่าพิธาจะผ่านข่าวลือได้หรือไม่ ตรงนี้สะท้อนภาพยนตร์ไทยโบราณ พวกนี้คือพวกสร้างเรื่อง และใช้ถ้อยคำไม่กี่คำให้คนดูรู้สึกเร้าใจ มีประเด็นใหม่อยู่ตลอดเวลา นี่มันลิเกไทยชัดๆ” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ขยายความ
นอกจากนี้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังมองประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นหนึ่งในนโยบายพรรคก้าวไกลซึ่งอาจถูกโยงไปสู่การล้มล้างการปกครองว่าจริงๆ แล้วเกิดจากกลุ่มเครือข่ายที่ต้องการขัดขวางพิธาและพรรคก้าวไกล ซึ่งคงจะมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง
จึงน่าจะเป็นกระบวนการที่ต้องการทำลายโดยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีช่องโหว่ในการร้องเรียนและออกแบบองค์กรต่างๆ เพื่อแสดงตัวตนต่อพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีพวกของตนเอง