×

‘ในวินาทีที่ทุกคนลำบาก มหาวิทยาลัยต้องช่วย’ เปิดใจ ‘เกศินี วิฑูรชาติ’ แม่ทัพธรรมศาสตร์สู้วิกฤตโควิด-19

10.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คืออธิการบดีหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลานี้ต้องทำหน้าที่เป็นแม่ทัพสำคัญในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19
  • หัวใจหลักคือการมองปัญหารอบด้าน มีทีมงานที่พร้อมประสาน ประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเมื่อมีความเดือดร้อนมหาวิทยาลัยต้องช่วยทันที งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ขอให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเหล่านั้นคือสิ่งสำคัญ 

 

‘คุณแม่อธิการ’ หรือ ‘ฮองเฮา’ คือสรรพนามที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เอ่ยถึง ‘รศ.เกศินี วิฑูรชาติ’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนปัจจุบัน ด้วยบุคลิกและสไตล์ส่วนตัวที่นักศึกษาชอบใจ และ รศ.เกศินี ก็รู้ถึงสรรพนามเหล่านี้ที่นักศึกษาใช้เรียกแทนตัวเองด้วย

 

หลังเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศช่วยเหลือนักศึกษาทุกช่องทางทันที ให้บุคลากรทำงานที่บ้าน (Work from Home) และความช่วยเหลือ ยังขยายไปถึงกลุ่มผู้ให้บริการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ทั้งร้านค้า พนักงานขับรถ รวมถึงประชาชนทั่วไป ด้วยการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และโรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัย

 

ด้วยการตัดสินใจที่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และมองอย่างรอบด้าน มาตรการต่างๆ ที่พูดนำมาใช้ให้ผลเป็นรูปธรรม ทำให้ รศ.เกศินี และทีมผู้บริหาร ได้รับเสียงชื่นชมถึงการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น 

 

THE STANDARD มีนัดหมายพูดคุยกับคุณแม่อธิการ ในบรรยากาศที่ต้อง Social Distancing และในฐานะผู้บริหาร รศ.เกศินี ยังต้องทำงานทุกวัน โดยอาศัยแอปพลิเคชันออนไลน์มาช่วยสั่งการ ที่สำคัญ อธิการบดีท่านนี้ ประกาศไม่รับเงินประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 ด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำไปสนับสนุนงานด้านอื่นๆ

 

 

อะไรคือคีย์หลักที่ใช้ในการบริหารจัดการวิกฤต

เราจะคิดทำอะไร ตัดสินใจเรื่องอะไร ก็ต้องคิดว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน และดูกลุ่มที่เราจะดูแลเขา การตัดสินใจจะมีผลกระทบต่อเขาอย่างไร ใช้หลักการ 360 องศา มองทุกกลุ่มรอบด้านครบถ้วน อันนี้เป็นหลักการสำคัญ 

 

นอกจากนี้ในภาวะวิกฤต เราก็ต้องเพิ่มการสร้างความมีส่วนร่วม ความรวดเร็ว ความยืดยุ่น แต่ละองคาพยพจะใช้การตัดสินใจ การมีมติที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มจะมีปัญหาหรือมีความต้องการความจำเป็นอย่างไร เราต้องบริหารให้ยืดหยุ่น รอบด้าน

 

ประเมินอย่างไรว่าจะต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก่อน วางลำดับการทำงานอย่างไร

เรื่องพวกนี้มันก็ตามสถานการณ์ และเราก็ดูจากต่างประเทศด้วย ในประเทศด้วย และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในส่วนของเรา ดังนั้นในเรื่องของการมีข้อมูลจากทุกภาคส่วนกลับเข้ามาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และการดูแลในเรื่องของช่วงวิกฤตเราก็จัดสร้าง TU War Room ขึ้นมา เรียกว่าเป็นวอร์รูมที่อยู่ในส่วนของมหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งก็คือในส่วนของโรงพยาบาล ซึ่งทั้งสองส่วนอธิการก็จะเป็นประธานในการพิจารณาการประชุม การดูเรื่องของความเร่งด่วน ดูในเรื่องของทรัพยากร

 

 

หมายความว่าอธิการบดีสามารถตัดสินใจได้เลย เมื่อผ่านการประเมินต่างๆ แล้ว

โดยที่เรารับฟังข้อมูลมา และดูปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจากต่างประเทศด้วย เราก็จะรู้ความจำเป็นว่าขณะนี้จะต้องปิดการเรียนการสอนได้แล้ว และการปิดการเรียนการสอนจะทำอย่างไรในเมื่อการเปิดเทอมก็ยังเปิดกันอยู่ ก็ต้องมีการเรียนหนังสือ มีการสอบ มีการเรียนวัดผล ตรงนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในเรื่องพื้นฐานของมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมอยู่แล้ว พื้นฐานของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะนี้การพัฒนามหาวิทยาลัยที่จะก้าวให้ทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เราจะพูดกันเยอะในเรื่องของ Disruption ซึ่งในต่างประเทศก็มีการเรียนการสอนที่เป็นระบบออนไลน์มากขึ้น ทางธรรมศาสตร์เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และถือเป็นกลยุทธ์ของธรรมศาสตร์ บวกกับตัวดิฉันเองก็คิดว่าธรรมศาสตร์เรามี Asset ที่สำคัญของเราคือความเป็นตลาดวิชา ประชาชนจะหาความรู้ก็เข้ามาได้ ดึกดื่นแค่ไหนก็เข้ามาเปิดระบบออนไลน์เรียนกับธรรมศาสตร์ตลาดวิชาได้ ตรงนี้เราก็ทำก่อนที่จะเกิดวิกฤต

 

แล้วเรายังดำเนินการไปอีกเรื่องหนึ่งว่า เราจะเปิดปริญญาโทออนไลน์ หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation, หลักสูตรปริญญาโท Data Science for Digital Business Transformation ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรเตรียมการต่างๆ ไว้เรียบร้อย พร้อมที่จะดำเนินการได้ก็มาเกิดเหตุการณ์นี้

 

เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ธรรมศาสตร์จะมีความพร้อมมากในการจัดการเรียนการสอนภายใต้วิกฤตโดยใช้ระบบออนไลน์ เราแทบจะดำเนินการได้เลย

 

และหัวใจของการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จคือการพัฒนาระบบการเรียนการสอน เราจึงจัดอบรมให้ความรู้ทั้งอาจารย์และบุคลากร แล้วเรื่องเทคโนโลยีเราก็พร้อมมาก

 

 

มีคนบอกว่าอยากจะได้อธิการบดีเป็นนายกฯ อยากจะได้คุณแม่อธิการเป็นอธิการบดีของตัวเอง หลายมาตรการที่ออกมา มีฟรีเยอะ มีการบริหารงบประมาณอย่างไร 

การเตรียมความพร้อมเหล่านี้เรามีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว พอเกิดวิกฤตก็เลยง่ายๆ สำหรับเรา แต่ในเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วม ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ตรงนี้ทำให้เป็นต้นทุนของธรรมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหรือทำให้คนไว้ใจว่าให้กับธรรมศาสตร์ก็จะทำจริงนะ ไม่ล้มเหลว การที่คนบริจาคกับธรรมศาสตร์ก็จะใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงได้ใจ ได้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

ในส่วนของประชาชนก็บริจาคเงิน ศิษย์เก่าเองก็เป็นอะไรที่ต่างจากศิษย์เก่าที่อื่นๆ ในแง่ที่เขาจะมาเกี่ยวพันและรับรู้ความเป็นไปของมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา เขาก้าวเข้ามาบริจาคเงิน เขาเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เราก็มีกองทุนที่บริจาคจากศิษย์เก่าอย่างต่อเนื่อง การทำงานของเราจึงง่ายขึ้น เร็วขึ้น

 

ศิษย์เก่าอาจจะไม่ใช่บริจาคเงินอย่างเดียว แต่เข้ามาเป็นวิทยากร เข้ามาช่วยดูแลนักศึกษาในบางเรื่อง หรือเข้ามาช่วยเสนอในเรื่องของสถานที่ฝึกงานให้กับเด็ก ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ดี และด้วยเหตุนี้ การดำเนินการของธรรมศาสตร์จึงประสบความสำเร็จ แล้วเมื่อมหาวิทยาลัยเห็นประชาชนมีปัญหา เราก้าวเข้าไปมันก็จะยิ่งทำให้คนไว้ใจเรา เขาก็จะรับรู้ว่าธรรมศาสตร์ซื่อสัตย์ และทำงานเพื่อสังคมจริงๆ

 

 

คนทั่วไปอยากรู้จริงๆ ว่า เรื่องงบประมาณ บริหารจัดการเพียงพอไหม ทั้งการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ สนับสนุนลูกจ้าง

ในวินาทีนั้นเราก็ถือว่าทุกคนลำบาก มหาวิทยาลัยต้องช่วยเราก็มาดูแล้วว่าของเรามีอะไรบ้าง Stakeholder ต่างๆ มีการเจรจาว่านักศึกษาต้องการอะไร อย่างค่ายโทรศัพท์มือถือก็ให้ความร่วมมือดี มีการบริจาคให้ เราก็นำมาจัดให้ หรืออย่างการทำประกันภัยโควิด-19 ให้กับนักศึกษา ตรงนี้เราก็เห็นว่าคนเป็นกังวลใจ มันไม่สบายใจจะทำอย่างไร สิ่งที่ให้ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เราก็คิดว่าบางส่วนก็เป็นเงินที่เราเก็บมาจากเด็ก ก็ไปดูงบประมาณ ส่วนไหนที่เรายังไม่ได้ใช้ ในส่วนที่เป็นของนักศึกษาก็ดึงขึ้นมาแล้วก็นำไปใช้ในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาในหลากหลายรูปแบบ ทำเรื่องประกันภัยโควิด-19 การจัดการเรียนการสอน ทุนการศึกษา หรือจะทำเรื่องการทำหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ หรือเงินยังไม่พอเราก็ไประดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นเรื่องเงินไม่พอจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา

 

ปัญหาคือเราจะทำอะไร เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ไหม อิมแพ็กแค่ไหน เรื่องเงินไม่สำคัญแล้วเพราะเราหาจากศิษย์เก่าได้ หาจากประชาชน หาจากงบประมาณของเรา และงบประมาณเราก็มาดูว่าอะไรที่เราจะไม่ได้ใช้ และคงไม่ได้ใช้ เราก็เอามาดูแล้วเอาออกมาใช้จ่าย และเรายังไปหาสปอนเซอร์จากภาคธุรกิจ ดังเช่นเรื่อง ซิม หรือเราก็เจรจากับ สวทช. ในการให้ทุนร่วมกับธรรมศาสตร์ ในการให้ทุนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก อย่างเช่น จากเดิมเคยให้ 60 ทุน ก็เปลี่ยนเป็น 90 ทุนได้ไหม ก็เป็นการเจรจา เป็นพลังที่สำคัญ

 

 

มหาวิทยาลัยช่วยเหลือเผื่อแผ่ไปถึงคนนอกด้วย อย่างการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย, การทำโรงพยาบาลสนาม แนวคิดเหล่านี้มาจากอะไร ที่ทำให้เราตัดสินใจมองออกไปข้างนอกด้วย ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย

อันนี้ก็จากการที่เรามีวอร์รูม และรับรู้ข่าวสารจากต่างประเทศ เราก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า ต้องดำเนินการอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ต่างประเทศเกิดขึ้น เราก็ต้องดูรอบโลกด้วยว่าเขาแก้ปัญหากันอย่างไร

 

เช่นกันในอิตาลี หรือสเปน ก็เห็นได้ชัดว่าสถานที่ที่จะรองรับไม่พอ ตรงนี้เราก็เลยคิดว่าถ้าสถานที่ไม่พอ แล้วเราไม่ต้องการให้คนของเรานอนตามทางเดินต่างๆ ก็น่าจะต้องมีโรงพยาบาลสนามขึ้นเป็นโรงพยาบาลที่จะรองรับผู้ป่วยที่ใกล้จะหายแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าดูอาการอีก 14 วัน คนที่ถูกถ่ายเทจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษา มาสู่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีระบบการดูแล และเราสามารถหาห้องจากอาคารหอพักได้ 308 ห้อง เราก็นำมาทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีหมอที่จะอยู่ประจำ มีพยาบาลอยู่ประจำอย่างน้อยกี่คน จะต้องมีหมออยู่อย่างน้อย 2 คน พยาบาลอย่างน้อย 3 คน จะต้องมีผู้อำนวยการ หน่วยงานนี้เหมือนเป็นอิสระ แต่ก็เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล มีอิสระในการตัดสินใจ 

 

ในการดูแลข้อมูลต่างๆ เราก็ตั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามขึ้นมา แล้วเราก็ตั้งผู้จัดการโรงพยาบาลสนาม อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ (ประธานบอร์ดโรงพยาบาล) บอกว่าเอา อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มาเป็นผู้จัดการโรงพยาบาลสนามให้หน่อย อาจารย์ปริญญาก็จะเป็นประเภทประสานได้สิบทิศ นักศึกษา บุคลากร บุคคลภายนอก และทรัพยากรมหาวิทยาลัย อะไรที่มีอาจารย์ก็จะรู้อยู่แล้วเพราะดูแลศูนย์รังสิต ก็จะสามารถดึงทรัพยากรเหล่านี้มาช่วยทางโรงพยาบาลสนามได้ 

 

เรื่องโรงพยาบาลสนามก็ได้รับความชื่นชมมากว่าทำให้รับผู้ป่วยได้มากขึ้น ตอนนี้ก็มีผู้ป่วยที่ไปอยู่โรงพยาบาลสนาม 23 คนแล้ว และนอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำได้ดีก็คือ เราไปร่วมมือกับโรงพยาบาลจังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ ของจังหวัดปทุมธานี เพื่อที่ธรรมศาสตร์จะดูแลโรงพยาบาลเหล่านี้ให้มีความรู้ในเรื่องของการรักษาโควิด-19 

 

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังสัญญาว่าจะดูแลในเรื่องของครุภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เรื่องของการส่งรถไปรับผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ให้กับทางโรงพยาบาลปทุมธานี ทำให้เกิดการขยายกำลังการผลิต หรือกำลังการรักษาได้กว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้น อันนี้เป็นกลยุทธ์ที่ดี เป็นการแสดงให้เห็นถึงคนธรรมศาสตร์ที่คิดถึงส่วนรวม เพราะตอนนี้เราทำเราก็มีวัสดุอุปกรณ์ระดับหนึ่ง แต่เราก็เต็มใจที่จะประกาศว่า เราพร้อมจะนำทรัพยากรแบ่งไปให้กับโรงพยาบาลปทุมด้วย

ผู้ที่เป็นต้นคิดก็คือศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ต้องให้เครดิต ว่าพร้อมจะทำงานหนักขึ้น ก็จะรู้ร้อนรู้หนาวไปกับโรงพยาบาลปทุมธานี และคนปทุมก็จะอุ่นใจมากขึ้น

 

 

หลายคนอยู่กับความทุกข์ในสถานการณ์นี้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพกาย ใจ ในฐานะที่อาจารย์บริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ อยากจะให้ฝากถึงคนที่อยู่ในวิกฤตว่าจะทำอย่างไร จะอยู่กับมันอย่างไร มีความหวังอย่างไร

ก็อยากจะเรียนว่าทุกภาคส่วนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ผู้คนทางด้านการแพทย์ทั้งหลาย คุณหมอ พยาบาล ทุกองคาพยพ ตลอดจนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงโรงพยาบาลก็ตาม ก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ คิดว่าปรากฏการณ์ของการช่วยกัน การทำงานร่วมกันอย่างใส่ใจ และคนไทยเองไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องไม้เครื่องมือ เงินทอง ก็ร่วมกันในการบริจาค คิดว่าคนไทยน่าจะอุ่นใจไปได้มากทีเดียว ที่คนไทยไม่ทิ้งกัน ช่วยกันคิดเลยว่าจะต้องไปทำหน้ากากมาเพิ่มขึ้นอย่างไร ไปทำเครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นได้อย่างไร จะรักษาด้วยวิธีการอย่างอื่นได้อย่างไร อะไรพวกนี้เป็นเรื่องที่เราร่วมมือกันได้ด้วยหัวใจจริงๆ เท่าที่ดิฉันได้สัมผัสและติดตาม 

 

เหมือนที่บอกว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เราก็คิดจะต้องทำสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมประชาชนอยู่ตรงไหนเพื่อให้มันรอบคอบ รอบด้าน ทันเวลาก็คิดว่าคนไทยเราโชคดี แล้วเราก็อย่าไปกังวลมาก เรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ก็คิดว่าน่าจะคลายความกังวลได้ และปฏิบัติหน้าที่ต่อตัวเราเอง อันนี้เป็นหน้าที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากในทุกที่ที่เราไป เราก็ดูแลรักษาสุขภาพในด้านอื่น ในเรื่องของการอยู่ห่างเป็นระยะอย่างน้อย 2 เมตร พยายามที่จะทำงานที่บ้าน เพื่อที่จะไม่ไปเสี่ยงทั้งต่อตัวเราเอง หรือเราอาจจะมีโรคอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะไปแพร่เชื้อได้ ก็เห็นว่าเรามีความสุข แล้วมั่นใจได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

อธิการบดีเองก็อายุมากขึ้น และยังต้องทำงานหนักในช่วงนี้ ดูแลสุขภาพหรือจัดการตัวเองอย่างไร

อย่างการประชุมก็เชิญชวนให้ใช้ระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เรื่องทำงานที่บ้านก็อยากจะให้ถือเป็นนโยบาย ธรรมศาสตร์เองก็มีพื้นฐาน สำนักหอสมุดเราก็มีพื้นฐาน เพราะว่าสำนักหอสมุดเราก็มี Work from Home เราก็เลยสนใจ ก็ซักถาม จากที่เคยได้เห็นว่าสำนักหอสมุดริเริ่มตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุการณ์นี้ เริ่มการมี Work from Home ผู้คนก็มีความสุข ผลงานห้องสมุดก็ดี 

 

สิ่งที่ดีมากมายคือมีการบริการในเรื่องใหม่ๆ มีนวัตกรรม แล้วอย่างล่าสุดสำนักหอสมุดก็มีบริการเดลิเวอรี อย่างคนอยู่บ้านเบื่อก็ออร์เดอร์มาได้ว่าอยากจะยืมหนังสือเล่มไหนของหอสมุดเรา จะมีเปิดให้จองเป็นช่วง และสำนักหอสมุดก็จะมีการส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ ก็จะไม่มีการสัมผัส

 

เป็นเรื่องที่เขาพยายามเอาสิ่งที่มีอยู่ไปให้บริการกับสังคมของธรรมศาสตร์ ทุกคนก็มีความสุข คิดว่าธรรมศาสตร์น่าจะมี Work from Home ในหน่วยงานอื่นๆ ได้นะ 

 

ล่าสุดเราก็ทำเรื่องของการทำงานในลักษณะที่ยืดหยุ่นได้ ให้คุณเลือกเลยว่าจะทำงานในช่วงเวลาไหนถึงช่วงเวลาไหน แต่หัวหน้าหน่วยงานก็ต้องมาวิเคราะห์ว่ามันจะประสานการทำงานร่วมกันได้ และออกมาเป็นผลผลิตที่ต้องการได้ ซึ่งถ้าหากว่าการทำงานเป็นระบบ คนทำงานมีความสุข ก็จะทำให้คนทำงานเราเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising