ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการยุติการดำเนินคดีอาญากับ วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งถูกตั้งข้อหาเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา รวมถึงข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยที่ทั้ง 5 ข้อหานี้ หากมีการดำเนินคดีอาญา และต่อสู้คดีกันตามปกติ แม้พิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง ก็มีโอกาสที่ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดี ยิ่งให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนที่ให้การช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษทางวินัย
ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และไม่ได้กลับมาต่อสู้คดีตามปกติเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใส และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และคอยติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดีด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่ง
แม้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การดำเนินคดีและผลของคดีอาญาในคดีจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศในภาพรวม การดำเนินคดีอาญาในคดีนี้กลับเป็นไปด้วยความล่าช้า จนทำให้คดีขาดอายุความไป 3 ข้อหา
ในขณะที่ข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่อุกฉกรรจ์ที่สุดในบรรดาข้อหาทั้งหมด และเจ้าพนักงานยังมีโอกาสพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาไปจนถึงปี 2570 สำนักงานอัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทั้งที่ได้เคยมีการออกหมายจับไปแล้วก่อนหน้า และมีการแจ้งให้สาธารณชนทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงคำสั่งและดุลยพินิจ ซ้ำร้ายสังคมกลับทราบข่าวการสั่งไม่ฟ้องจากสื่อต่างประเทศ
นอกจากนี้รายงานการตรวจพบสารเสพติดในตัวผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาขับรถขณะเมาสุราที่ได้ยุติไปก่อนหน้า และการไม่ดำเนินคดีอาญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย
แม้ว่าตามกฎหมาย พนักงานอัยการจะมีดุลยพินิจในการสั่งคดีไม่ว่าจะเป็นการสั่งฟ้องหรือการสั่งไม่ฟ้องบนพื้นฐานของ ‘พยานหลักฐาน’ ว่าพอเพียงที่จะดำเนินคดีหรือไม่ และรับฟังได้เพียงใด หรือบนพื้นฐานของ ‘ประโยชน์สาธารณะ’ แต่การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวจะต้องมี ‘เหตุผล’ ที่หนักแน่น โดยเฉพาะคดีที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างเช่นคดีนี้ ยิ่งต้องแสดงเหตุผลที่หนักแน่นมากเป็นพิเศษ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินคดีอาญาที่โปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยคลายความวิตกกังกวลของสาธารณชน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาเมื่อปี 2555 จวบจนปัจจุบัน ความเคลือบแคลงสงสัยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คำชี้แจงหรือคำอธิบายต่อการดำเนินการและผลทางคดีกลับไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอ และบางครั้งมีความขัดแย้งกันเอง สร้างความไม่พอใจและเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวมากตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุของความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม จนเกิดวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’
ในขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายพยายามอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และพยายามกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินคดีอาญาต่อ วรยุทธ อยู่วิทยา ทำให้ความพยายามดังกล่าวไร้ความหมายในสายตาของประชาชน และการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่มีต่อองค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม บั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อรักษากำลังใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความภาคภูมิใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร็ว
- ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับ วรยุทธ อยู่วิทยา โดยละเอียด และอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา
- ตรวจสอบการดำเนินการและการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริต และโปร่งใสหรือไม่ และหากพบว่ามีการดำเนินการหรือการใช้ดุลยพินิจในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลยพินิจใหม่ให้ถูกต้อง
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
- รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด
- รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
- ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี
- รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
- รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์
- รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
- ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย
- ผศ.ทวีศักดิ์ เอื้ออมรวนิช
- ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
- อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์
- อ.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์
- อ.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
- อ.ภัทรพงษ์ แสงไกร
- ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์
- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
- ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต
- ศ.ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ
- อ.ปทิตตา ไชยปาน
- อ.อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ
- ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
- อ.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ
- อ.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
- อ.ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล
- อ.จุฑามาศ ถิระวัฒน์
- อ.ปรียาภรณ์ อุบลสวัสดิ์
- อ.กรกนก บัววิเชียร
- อ.กีระเกียรติ พระทัย
- อ.เมษปิติ พูลสวัสดิ์
- อ.กิตติภพ วังคำ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล