×

คณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชี้ปมผลแห่งคดีธรรมนัส ไม่คำนึงเจตนารมณ์กฎหมาย ทำกระบวนการยุติธรรมตกต่ำ

โดย THE STANDARD TEAM
06.05.2021
  • LOADING...
คณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชี้ปมผลแห่งคดีธรรมนัส ไม่คำนึงเจตนารมณ์กฎหมาย ทำกระบวนการยุติธรรมตกต่ำ

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพะเยา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี แม้ต้องคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จากศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ไม่ใช่ของศาลไทยนั้น

 

ล่าสุดได้มีกรณีแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในเชิงวิชาการอย่างกว้างขวาง โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

 

ความเห็นแตกต่างในการตีความคำว่า ‘คำพิพากษาอันถึงที่สุด’ มาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ทั้งๆ คนทั่วไปต่างก็ทราบว่าประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสรภาพทางการศาลที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ในขณะที่นักกฎหมายต่างก็ทราบดีว่ารัฐอธิปไตยสามารถยอมรับและบังคับกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาต่างประเทศได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเป็นเครื่องยืนยันข้อความจริงนี้ได้เป็นอย่างดี

 

การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ (Common Sense) ก็สามารถตอบได้ ยิ่งเมื่อได้อ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนว่า ‘ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล’ ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า ไม่แปลกใจในผลและเหตุผลที่ยึดการตีความตามตัวอักษร แต่สะท้อนใจที่สองประเด็นนี้มิได้ถูกเอ่ยถึง 

 

1. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนญที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทิน โดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ถูกเอ่ยถึง 

 

2. ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็น Double Criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X