×

ธรรมนัสลงพื้นที่อุบลราชธานี สั่งเร่งระบายน้ำท่วมโดยเร็ว และหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว พร้อมติดตามความคืบหน้าจัดงานพืชสวนโลก 2569

โดย THE STANDARD TEAM
01.10.2023
  • LOADING...
ธรรมนัส อุบลราชธานี

วานนี้ (30 กันยายน) ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์อุทกภัย พร้อมพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารบรรจุถุง หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 15 ราย เวชภัณฑ์ถุงยังชีพและหญ้าพระราชทาน แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพ ณ สะพานเสรีประชาธิปไตย และหอประชุมประชาวาริน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

    

สืบเนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่จากปริมาณฝนที่ตกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กันยายน 2566 จำนวน 1,999.8 มิลลิเมตร และช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีฝนตกสะสม 1,414.4 มิลลิเมตร จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) ที่สถานีวัดน้ำ (แม่น้ำมูล) M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำอยู่ที่ 112.70 เมตร หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 70 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,718 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

 

คาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ระดับไม่เกิน 112.90 เมตร หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 90 เซนติเมตร ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนและพื้นที่การเกษตรจำนวน 9 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอตระการพืชผล อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอดอนมดแดง อำเภอเขื่องใน และอำเภอตาลสุม จำนวน 56 ตำบล 296 หมู่บ้าน / ชุมชน 10,572 ครัวเรือน เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 6,793 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัยที่คาดว่าจะเสียหายรวมทุกชนิดพืช จำนวน 46,387.75 ไร่ 

    

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ใช้อาคารชลประทานทางตอนบนของแม่น้ำชี (เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง) และแม่น้ำมูล (เขื่อนราษีไศล) เพื่อหน่วงน้ำและผันเข้าระบบชลประทาน นำไปเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ส่วนตอนกลางจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ก่อนจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขงในอัตรา 3,372.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

 

ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับแม่น้ำมูลประมาณ 66 เซนติเมตร ทำให้การระบายน้ำยังคงทำได้ดี นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งร่วมบูรณาการกับกองบิน 21 มณฑลทหารบกที่ 22 และชาวบ้าน เสริมแนวกระสอบทรายจำนวน 4,000 ใบ อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน พร้อมปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 3 มาตรการ (เพิ่มเติม) เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงทุกจุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้สั่งการให้หามาตรการหรือแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ โดยต้องมีการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ พร้อมกำชับว่าจะต้องมีแผนในการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายกรมชลประทานเร่งหามาตรการในการแก้ไขปัญหาและเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” ร.อ. ธรรมนัส กล่าว

 

ในวันเดียวกันนี้ ร.อ. ธรรมนัส ยังได้เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 

 

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) ต่อสมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ 

 

ต่อมา ครม. มีมติครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 อนุมัติกรอบงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบประมาณ 4,281 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ มีความถูกต้องและโปร่งใส นำไปสู่การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 อย่างเรียบร้อย และสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทย

 

ทั้งนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จึงได้มอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาที่ติดขัด โดยเบื้องต้น ด้านการจัดซื้อจัดจ้างอาจใช้วิธีแบบรัฐต่อรัฐ หรือวิธีคัดเลือก หรือวิธีพิเศษ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเสร็จตามกำหนดเวลา สำหรับเรื่องที่ยังติดขัดคือการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด เพื่อจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

เบื้องต้นตนได้ประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทำหนังสือตอบข้อคิดเห็นกลับมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ เพื่อขอให้ทบทวนมติ ครม. เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้สามารถดำเนินการปรับพื้นที่และโครงสร้างได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด และยังได้เน้นย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมและจัดแสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลกอีกด้วย 

 

สำหรับแผนการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณการดำเนินงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี รวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่งานจัดตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภค และงานอาคาร งบประมาณ 1,811.76 ล้านบาท (จังหวัดอุดรธานี 1,686.76 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร 125 ล้านบาท) และการบริหารจัดการประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมตามข้อกำหนดของ AIPH การบริหารโครงการ การประสานงานต่างประเทศ งบประมาณ 533.50 ล้านบาท 

 

ด้าน ระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รายงานถึงความคืบหน้าว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจังหวัดอุดรธานี ในประเด็นการปรับงบประมาณภายใต้แผนงานในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างงบประมาณในส่วนของแผนงานการจัดตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภค และงานอาคาร ที่มีงบประมาณอยู่รวม 1,811.76 ล้านบาท 

 

โดยมองว่ามหกรรมพืชสวนโลกต้องมุ่งเน้นในด้านของการนำเสนอพืชสวนเป็นหลัก ซึ่งควรเป็นส่วนของการปลูกพืชพร้อมการดูแลรักษา จำนวนอย่างน้อย 800 ล้านบาท (หรือประมาณร้อยละ 30 ของกรอบวงเงินรวม) โดยจังหวัดอุดรธานีรับไปพิจารณาปรับลดรายละเอียดค่าใช้จ่ายในส่วนของจังหวัด ซึ่งจากการประชุมการจัดเตรียมข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 จังหวัดได้รับหลักการ พร้อมทั้งได้แจ้งบริษัทผู้ออกแบบให้ออกแบบให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างงบประมาณ สำหรับงบในส่วนอื่นๆ มีความจำเป็นต้องคงไว้ตามเดิม

 

ทั้งนี้ งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำ และพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน พื้นที่รวม 1,030 ไร่ พื้นที่ดำเนินกิจกรรม 975 ไร่ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 รวมระยะเวลาจัดงาน 134 วัน ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising