วันนี้ (1 พฤศจิกายน) จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดบริเวณปากถ้ำหลวง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ร่วมด้วยพระครูภาวนานุวัตร (ชูวิทย์ อคฺควิชฺโช) เจ้าอาวาสวัดมงคลธรรมกายาราม จังหวัดเชียงราย, กมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย), กวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ), เจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงราย, ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมงานด้วย เมื่อเวลา 08.30 น. ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
จงคล้ายกล่าวว่า หลังจากการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 คน เสร็จสิ้นลงตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกนั้น รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาแนวทาง พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับและพัฒนาวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนให้เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการดำเนินการตามที่รัฐบาลให้คำแนะนำ พร้อมทั้งยกระดับพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) เรียบร้อยแล้ว
“โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมกับ นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยประชาชนกว่า 500 คน เข้าร่วมงานในครั้งนั้นด้วย” จงคล้ายกล่าว
โดยหลังจากพิธีการเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน วราวุธได้ให้แนวทางการพัฒนาพื้นที่ว่า ต้องการให้ภาพรวมของพื้นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ บอกเล่าเรื่องราวการกู้ภัย และให้ทำเส้นทางสำหรับคนพิการเพิ่มเติมสำหรับบริเวณขุนน้ำนางนอนด้วย
ส่วนพื้นที่ด้านนอกให้คงความเป็นวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวน่าจะสนใจรูปแบบการกู้ชีพกู้ภัย มากกว่าไปเน้นการก่อสร้างที่ทันสมัย
“สำหรับที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม สถานที่ต่างๆ ตามแนวทางแล้ว โดยเฉพาะการดำเนินการให้ระบบนิเวศที่เสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิม เช่น การร่วมกับราษฎรจิตอาสารื้อท่อที่ใช้ในการเบี่ยงเบนทางน้ำในลำห้วย ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณขุนน้ำนางนอน ถ้ำหลวง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่างๆ ที่พยายามทำขึ้นใหม่ ตั้งแต่ถ้ำพระ ถ้ำพญานาค ถ้ำเลียงผา เส้นทางศึกษาธรรมชาติดูปูดอกข้อแดง ก่อสร้างห้องน้ำใหม่ให้มีความสะอาดและเพียงพอ อนุสาวรีย์จ่าแซม ศาลาภาพเขียนของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ จัดนิทรรศการในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชั่วคราว ตลอดจนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตนได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณี เข้าไปร่วมสำรวจ เพื่อตรวจดูอุปกรณ์ที่ใช้กู้ภัยต่างๆ ภายในถ้ำว่าอยู่ในสภาพใด เพื่อวางแผนในการจัดการต่อไป
ซึ่งได้เดินจากบริเวณปากถ้ำถึงเนินนมสาว วัดระยะทางที่แท้จริงได้ 2,315 เมตร และต่อมา พล.ร.ต. อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พร้อมด้วยหน่วยซีล ได้เข้าไปเก็บถังอากาศ 376 ใบ ออกจากถ้ำ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ สามารถนำไปใช้งานได้ต่อไป” จงคล้ายกล่าว
จงคล้ายยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตการพัฒนาคงต้องทำอย่างระมัดระวังและรัดกุมให้มากที่สุด โดยจะมีนักวิชาการมาช่วยศึกษาความเป็นไปได้ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาจัดทำแผนแม่บท ผังแม่บท โดยจะศึกษาตั้งแต่ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ การดูแลคุ้มครองพื้นที่ การท่องเที่ยว เรื่องของธรณีวิทยา และที่สำคัญคือ เหตุการณ์การกู้ภัยในครั้งนั้น ตลอดจนเรื่องราวจิตอาสาของคนไทยในครั้งนั้นด้วย
“ระหว่างรอแผนแม่บท กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็จะปรับปรุงพัฒนาด้านต่างๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการจัดการอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจรายละเอียดภายในถ้ำหลวง สำหรับช่วงนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจเส้นทางเดินในถ้ำทรายทอง บริเวณขุนน้ำนางนอน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานต่างๆ ด้วยดีมาโดยตลอด” จงคล้ายกล่าวในที่สุด
สำหรับวันนี้ (1 พฤศจิกายน) กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มาทดลองเปิดบริเวณปากถ้ำหลวง เพื่อทดลองระบบการเข้า-ออก และการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการในอนาคต และต้องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า ขณะนี้อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้มีการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมในทุกด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) และทั้งหมดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและรูปแบบที่จะใช้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เต็มรูปแบบ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ เรื่องราวการกู้ภัยในถ้ำครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของโลก สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นและภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวไทยและชาวโลกต่อไปในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล