กรมสรรพากรเผยผลการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2566 พบคนขอคืนเพิ่ม 7.6% ดันยอดยื่นแบบเพิ่ม 3.42% ทำให้ในปีภาษีล่าสุดมีคนยื่นแบบสูงกว่า 11.99 ล้านแบบ โดยกว่า 1 ใน 3 ‘ยื่นเพื่อขอเงินคืน’
วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ผลการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) ปีภาษี 2566 พบมีการยื่นแบบเพิ่มขึ้น 3.42% โดยมีการยื่นแบบ 11,997,139 แบบ จากปีภาษี 2565 ที่มีการยื่นแบบ 11,600,492 แบบ
โดยจำนวนนี้เป็นแบบที่ขอคืนภาษีถึง 4,280,939 แบบ คิดเป็น 35.68% หรือกว่า 1 ใน 3 ของการยื่นแบบทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 302,301 แบบ หรือเพิ่มขึ้น 7.6%
ตามข้อมูลถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 พบว่ามีแบบที่กรมสรรพากรคืนแล้ว 3.6 ล้านแบบ เป็นภาษีคืนอยู่ที่ 3.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีภาษี 2565 ที่ 3.42 หมื่นล้านบาท หรือราว 7%
ทั้งนี้ ปีภาษีหมายถึงรอบระยะเวลาที่ใช้สำหรับคำนวณภาษี โดยปีภาษีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีนั้นๆ
จำนวนแรงงานที่ต้องยื่นแบบมีเท่าไร?
ตามการคำนวณ ‘ล่าสุด’ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าในปี 2564 มีแรงงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบจำนวนกว่า 19 ล้านคน
ขณะที่กำลังแรงงานในระบบของไทยทั้งหมดอยู่ที่ 40.2 ล้านคน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (อ้างอิง: รายงานภาวะสังคมของสภาพัฒน์)
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาพัฒน์เปิดเผยผลการสำรวจที่ทำร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (SAB) พบว่าคนไทย 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2565 โดยจำนวนกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบนี้ 50.5% เป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่น
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อปี 2566 โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 3,846 คน ใน 14 จังหวัด ทุกภูมิภาค