×

LINE เผยคนไทยใช้สติกเกอร์เติบโตติดอันดับโลก เฉลี่ยมีคนละ 65 ชุด

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2019
  • LOADING...

เชื่อว่าคนไทยมากกว่า 44 ล้านคนที่ใช้ LINE น่าจะต้องเคยใช้ ‘สติกเกอร์ไลน์’ กันแทบทั้งนั้น ปัจจุบันมันได้ก้าวเข้ามามีบทบาทกับวิธีการสื่อสารสนทนาของผู้ใช้แต่ละคนเป็นอย่างมาก ทั้งใช้แทนการพิมพ์ข้อความยาวๆ แก้เพนพอยต์การสื่อสารทางอารมณ์ แถมยังเป็นเครื่องมือการสื่อสาร และการทำการตลาดชั้นดีของแบรนด์ ศิลปิน-ดารา หรือหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ LINE ประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลของธุรกิจผลิตภัณฑ์ LINE STICKERS ในไทย หลังให้บริการครบ 7 ปี โดยพบว่าสติกเกอร์ LINE ในไทยมีการเติบโตสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศ และยังเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับ LINE ประเทศไทย 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจในเชิงอินไซด์ผู้ใช้งานยังพบอีกด้วยว่า เฉลี่ยแล้วผู้ใช้งานคนไทยหนึ่งคนจะมีสติกเกอร์มากถึง 65 ชุด ในจำนวนนี้เป็นสติกเกอร์แบบจ่ายเงินซื้อประมาณ 20 ชุด หรือราว 31% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากการที่ LINE พัฒนาช่องทางจำหน่ายสติกเกอร์ให้เข้าถึงง่ายขึ้น และเพิ่มนวัตกรรมสติกเกอร์รูปแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

ความนิยมของสติกเกอร์ LINE ยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของอาชีพใหม่อย่าง ‘LINE Creators’ หรือนักออกแบบสติกเกอร์ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาๆ ทั่วไปสามารถหารายได้จากการสร้างสรรค์สติกเกอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกมาวางจำหน่าย ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดครีเอเตอร์ไทยมีการเติบโตเป็นอันดับหนึ่ง มีฐานครีเอเตอร์ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค โดยมีจำนวนครีเอเตอร์ในไทยกว่า 480,000 คน พร้อมผลงานสติกเกอร์ที่ผลิตขึ้นมาจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านเซต คิดเป็นสัดส่วน 35% ของสติกเกอร์ที่ขายบนแพลตฟอร์ม LINE ทั้งหมด 

 

กลยุทธ์ในปีนี้ของ LINE STICKERS จะเน้นไปที่การพัฒนาและสร้างประสบการณ์การใช้งานสติกเกอร์รูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการเปิดตัว Custom Sticker ให้ผู้ซื้อเติมคำหรือชื่อที่ต้องการใส่ลงไปในสติกเกอร์ของตัวเองได้ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาช่องทางจำหน่ายสติกเกอร์ เหมือนที่ล่าสุดได้ร่วมกับผู้ให้บริการ AIS เพื่อให้ลูกค้าของ AIS ใช้พอยต์แลกรับสติกเกอร์จากแอปฯ my AIS ได้ทันที

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising