×

ThaiRAP เปิดผลสำรวจถนนไทย 1,000 กม. แรก พบเส้นทางปลอดภัย 5 ดาวเพียง 1%

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2020
  • LOADING...
ThaiRAP เปิดผลสำรวจถนนไทย 1,000 กม. แรก พบเส้นทางปลอดภัย 5 ดาวเพียง 1%

10 ตุลาคม 2553 ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 100 ประเทศทั่วโลกนำระบบจัดเรตติ้งมาตรฐานและความปลอดภัยของถนน มาใช้ประเมินสถานะถนนในประเทศ รวมถึงไทย เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและหาทางแก้ไข โดยทำการประเมินความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนน 4 กลุ่มคือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และคนเดินเท้า ไม่น้อยกว่า 50 ตัวแปร ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และประเมินทุกๆ ช่วง 100 เมตร เท่ากับ 1 กิโลเมตรจะมีการจัดดาวถึง 10 ช่วง โดยถนนที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสูงสุดจะได้เรตติ้ง 5 ดาว และน้อยที่สุด 1 ดาว 

 

ทั้งนี้การจัดระดับเรตติ้งถนนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำและกำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศทำถนนให้มีความปลอดภัยตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ทั้งถนนที่ก่อสร้างใหม่และพัฒนาปรับปรุงถนนเส้นเก่า โดยในประเทศไทยได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2530 ภาพรวมการเดินทางบนถนนไทยอย่างน้อย 75% ต้องอยู่บนถนนระดับ 3 ดาวขึ้นไปสำหรับผู้ใช้ถนนทั้ง 4 กลุ่ม เพราะจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงในการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 50% สำหรับทุกๆ ค่าดาวที่ได้รับการยกระดับสูงขึ้น หมายความว่าคนไทยจะปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

 

โดยพบว่าการประเมินของ ThaiRAP ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเมินถนนใน กทม. ปริมณฑล และถนนบางเส้นทางในจังหวัดภูเก็ต รวมกว่า 1,000 กิโลเมตร ผลประเมินค่าดาวบนถนนไทยพบว่า ถนนที่ปลอดภัยระดับ 5 ดาวสำหรับรถยนต์มีเพียงแค่ 1% ที่เหลือส่วนใหญ่ 60% สำหรับรถจักรยานยนต์ 77% สำหรับรถจักรยาน 91% และสำหรับคนเดินเท้า 84% เป็นถนนระดับ 1-2 ดาวเท่านั้น โดยสภาพข้างทางที่เป็นปัจจัยเสี่ยงบนถนนที่พบมากที่สุดใน กทม. 5 อันดับแรกคือ 

 

  1. เสาไฟฟ้า เสาป้าย เสาจราจร ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เซนติเมตร
  2. ต้นไม้ เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เซนติเมตร
  3. ราวอันตรายคอนกรีต 
  4. โครงสร้างแข็งหรือสิ่งก่อสร้าง 
  5. โครงสร้างกิ่งแข็งหรือสิ่งก่อสร้าง

 

“ถนนที่ได้มาตรฐานระดับ 4-5 สำหรับผู้ใช้ถนนทุกกลุ่มในเขตพื้นที่ กทม. ได้แก่ ถนนนครราชสีมา ถนนมหาชัย และถนนในเขตเยาวราช ที่มีน้อยเพราะในอดีตเราออกแบบให้คนขับรถเก๋งใช้เป็นหลัก ไม่อำนวยความสะดวกให้กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ใช้ที่เปราะบาง โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ จักรยาน และคนเดินเท้า” ศ.ดร.เกษม กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิศวกรรมจราจรสมัยใหม่ จะเน้นการออกแบบเพื่อรองรับสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม การออกแบบที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ได้ เช่น ในเมืองสามารถออกแบบให้คนขับรถช้าลงได้ ขณะเดียวกันยังสามารถออกแบบถนนให้อภัยในความผิดพลาด เช่น จุดเสี่ยงบริเวณทางแยกลงทางด่วน ถ้าตัดสินใจไม่ดีโอกาสพุ่งลงช่องว่างระหว่างกลาง รถตกทางด่วนสูงมาก ซึ่งหากมีการติดตั้งเครื่องซับแรงกระแทกตรงจุดนั้นจะสามารถป้องกันได้ หรือกรณีอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ข้างทางเสียชีวิต สามารถแก้ไขโดยการตัดต้นไม้ออกเพื่อเคลียร์พื้นที่ไหล่ทางให้ปลอดภัย เพราะตามหลักวิศวกรรมจะไม่ใช้ต้นไม้เพื่อรับแรงกระแทก แต่หากไม่ต้องการตัดต้นไม้ออกก็ควรป้องกันไม่ให้รถพุ่งชนต้นไม้ โดยการติดตั้งการ์ดเรลหรือราวกันตก เป็นต้น

 

“ปัญหาการชนที่เกิดขึ้นในไทยสามารถป้องกันและลดอัตราการเจ็บและตายได้โดยการสร้างถนนที่ปลอดภัย ซึ่งการออกมาสื่อสารและให้ข้อมูลอยากให้เห็นว่า ปัจจุบันสถานะมาตรฐานถนนในบ้านเราอยู่ในระดับไหน เพื่อเป็นตัวสะท้อนปัญหาให้เห็นว่าเราควรแก้ไขตรงจุดไหน และใช้มาตรการอะไรบ้างให้ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อม ซึ่งส่วนตัวมองว่าแม้ตอนนี้ภาพรวมสถานการณ์ในบ้านเราเหมือนเป็นผู้ป่วยวิกฤต แต่ก็ยังมีทางรักษาให้หายได้”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising