×

ซีอีโอ ‘ไทยออยล์’ มองน้ำมัน 1H อยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ ชี้ราคาเสี่ยงผันผวนดอกเบี้ยขาขึ้นกดดีมานด์ ฉุดรายได้ปีนี้ลดลงจากปีก่อน

08.03.2023
  • LOADING...

บมจ.ไทยออยล์ มองน้ำมันครึ่งแรกปีนี้จะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้ราคายังผันผวนหนักจึงคาดการณ์ราคาช่วงครึ่งปีหลังได้ยาก ระบุแม้ดีมานด์ฟื้น แต่ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งแรงกดดันต่อเนื่อง ด้านซีอีโอใหม่จ่อทุ่มลงทุน 3 ปีที่ 1 พันล้านดอลลาร์ เน้นต่อยอดธุรกิจ

 

บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP กล่าวว่า กล่าวว่า ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบระยะสั้นในช่วงครึ่งแรกปีนี้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งยังมีโอกาสเห็นการเคลื่อนไหวที่ผันผวนของราคา จึงคาดการณ์ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังปีนี้ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้มีทั้งปัจจัยที่สนับสนุนราคาและปัจจัยที่กดดันต่อราคาน้ำมัน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การที่จีนเปิดประเทศ ทำให้มีดีมานด์น้ำมันเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (OPEC) ยังคงการผลิตน้ำมันไว้ที่ระดับเดิมเพื่อเป็นการรักษาระดับราคาน้ำมันไว้ ประกอบกับรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนมีการประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน (Shutdown) ทำให้มีซัพพลายน้ำมันลดลงไปในตลาดโลกประมาณ 2-3 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งยังมีประเด็นจากความไม่แน่นอนจากประเด็นของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังประเมินสถานการณ์ได้ยาก

 

ขณะที่ปัจจัยกดดัน ได้แก่ การธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กระทบกำลังซื้อหรือดีมานด์น้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีความเสี่ยงลดลง

 

ยอมรับราคาน้ำมันลงฉุดรายได้

บัณฑิตกล่าวว่า แนวโน้มรายได้ของบริษัทในปี 2566 จะปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 4 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับค่าการกลั่น (GRM) อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ที่คาดว่าจะกลับมาสู่ระดับปกติเฉลี่ยราว 7-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่าระดับปกติ 10.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดย GRM ถือว่ากลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดที่อยู่ราว 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ขณะที่แนวโน้มปริมาณการขายน้ำมันทุกประเภทของบริษัทปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้หมดทุกประเภท โดยในส่วนของปริมาณการขายน้ำมันสำเร็จรูปคาดว่าจะโตประมาณ 4-5% และน้ำมันอากาศยานคาดว่าจะโตถึงระดับ 50-60% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการเดินทางกันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในปีนี้บริษัทจะไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน

 

“ส่วนกรณีที่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เข้าซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO มองว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นของบริษัท เพราะกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งระบบยังเท่าเดิม ไม่มีผลทำให้ฝั่งผู้ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นมีอำนาจต่อรอง แต่อาจทำให้การแข่งขันในฝั่งรีเทลรุนแรงขึ้น แต่การที่โรงกลั่น ESSO เปลี่ยนผู้ถือหุ้นมาเป็นคนไทยมองว่าเป็นโอกาสที่เห็นความร่วมมือกันได้มากขึ้น Synergy กันได้มากขึ้นกับบริษัท หลัง ESSO มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย เพราะโรงกลั่นน้ำมันของไทยออยล์กับ ESSO ตั้งอยู่ใกล้กันในอำเภอศรีราชา เช่น การจัดหาวัตถุดิบ หรือในเรื่องอื่นๆ”

 

แผน 3 ปีทุ่มงบลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ 

สำหรับแผนลงทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2566-2568 ตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ โดยแบ่งสัดส่วนราว 50% หรือมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้สำหรับลงทุนต่อเนื่องในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) มูลค่ารวมทั้งโครงการรวม 1.60 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มทยอยสร้างตั้งแต่ปลาย 2561 ให้เสร็จตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งแบ่งเงินลงทุนอีกประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ ในการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลืออีกราว 120 ล้านดอลลาร์  สำหรับขยายกำลังการผลิตในอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ

 

ขณะที่หากแยกงบลงทุนของปีนี้บริษัทเตรียมไว้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นเพื่อใช้สำหรับการลงทุนในโครงการ CFP ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในส่วนที่เหลือ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% โดยบริษัทมีแผนจะเร่งการก่อสร้างให้เสร็จภายในปีนี้เพื่อให้หน่วยกลั่นผลิตน้ำมันยูโร 5 สามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป และคาดว่าทุกหน่วยจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เสร็จภายในไตรมาส 1/68 และการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า (TOP SPP) ให้แล้วเสร็จตามแผน โดยจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ GRM ของบริษัทดีขึ้นจากเดิมอีกเกือบเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะโครงการ CFP จะสามารถใช้น้ำมันดิบประเภทหนักที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าน้ำมันเบาได้ และสามารถกลั่นออกมาได้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

 

เล็งออกหุ้นกู้ 2 พันล้านดอลลาร์

สำหรับวงเงินลงทุนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะใช้การออกหุ้นกู้และเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของปีนี้บริษัทมีแผนจะขอวงเงินออกหุ้นกู้กับที่ประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการใช้เงินลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยแบ่งออกเป็นงบลงทุนประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ และที่เหลืออีก 1 พันล้านดอลลาร์ใช้สำหรับรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่จะทยอยครบกำหนด

 

นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับเป้าหมายธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในปี 2573 ซึ่งสัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจะอยู่ที่ 40%, ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30%, ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

สำหรับเป้าหมายหลักในปีนี้จะเป็นการเร่งดำเนินก่อโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ เช่น โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย พร้อมทั้งเร่งศึกษาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง 

 

อีกทั้งจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทฯ จึงได้ปรับเป้าหมาย ธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในปี 2030 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X