×

อัตราว่างงานไทย ‘เพิ่มขึ้น’ ในไตรมาส 1 ปี 2567 สภาพัฒน์ห่วง แรงงานขาดทักษะดิจิทัล ฉุดเศรษฐกิจไทย 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี

27.05.2024
  • LOADING...

สภาพัฒน์เผยว่า อัตราว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.01% จากระดับ 0.81% ในไตรมาสก่อน ห่วงการขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการขาดทักษะดิจิทัลอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี

 

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.01% จากระดับ 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขณะที่ผู้มีงานทำลดลงเล็กน้อยที่ -0.1% โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน

 

ชั่วโมงการทำงานลดลงตามการลดการทำงานล่วงเวลา โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41 และ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ทำงานล่วงเวลาลดลงกว่า 3.6%

 

อย่างไรก็ดี ดนุชาระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าห่วง เนื่องจากคาดว่าจะเป็นปัจจัยเชิงฤดูกาลชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7%

 

โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5.0%

 

สภาพัฒน์ยังแนะว่า มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 

  • การขาดทักษะของแรงงานไทย 
  • ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม
  • การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น

 

 

การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

 

โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะ ‘ต่ำกว่า’ เกณฑ์

 

รายงานยังหยิบข้อมูลจาก We Are Social ที่พบว่า ทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง

 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการขาดทักษะดิจิทัลอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง

 

“สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้” รายงานระบุ

 

‘รายจ่าย’ กองทุนประกันสังคมใกล้แตะ ‘รายรับ’

 

ผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2566 พบว่า ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่างๆ

 

นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมมีแนวโน้มจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมากถึง 2.3 ล้านคน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X