×

การท่องเที่ยว หัวใจของเศรษฐกิจไทยยังเต้นแรงแค่ไหน

โดย SCB WEALTH
12.09.2019
  • LOADING...
SCBS Wealth Research

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายที่น่าอภิรมย์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างที่ทำให้ไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเรื่องอาหารที่อร่อย ค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก 
  • ด้านความสำคัญต่อเศรษฐกิจ รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึง 10% ของ GDP ไทย ทำเงินได้มากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
  • ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยไม่ได้มีแค่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลว่าเงินบาทที่แข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทางท่องเที่ยว

เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากมายขนาดไหน 

 

ธุรกิจท่องเที่ยวมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอีกมากมาย ตั้งแต่นักท่องเที่ยวแตะพื้นรันเวย์ของสนามบิน พักอาศัยที่โรงแรม รับประทานอาหาร เดินทาง ช้อปปิ้ง ดูแลสุขภาพ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางบวกและลบโดยตรงจากการเติบโตของนักท่องเที่ยว 

 

ส่วนธุรกิจอย่างอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ยิ่งนักท่องเที่ยวยิ่งมาก จะส่งผลให้เกิดสังคมเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น คนจากนอกเมืองจะเข้ามาในเมืองมากขึ้นเพื่อทำงาน ความต้องการในด้านที่อยู่อาศัยก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย และในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกเติบโตต่ำจากค่าเงินบาทที่แข็ง และสงครามการค้าทำให้การท่องเที่ยวยิ่งทวีความสำคัญขึ้นมา

 

ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายที่น่าอภิรมย์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างที่ทำให้ไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเรื่องอาหารที่อร่อย ค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส หาดทรายที่สวยงาม ความอ่อนน้อมของผู้ให้บริการ ฯลฯ 

 

และยิ่งไปกว่านั้น มีภาพยนตร์ที่ผลิตโดยบริษัทจีน ได้มาสร้างภาพยนตร์ในไทย และออกฉายเมื่อราวปี 2012 ชื่อว่า Lost in Thailand เป็นภาพยนตร์แนวตลก เน้นถ่ายทำที่เชียงใหม่ ใช้เงินลงทุนในการสร้างภาพยนตร์เพียง 150 ล้านบาท แต่ทำรายได้ไปถึงกว่า 5 พันล้านบาท ตั้งแต่นั้นมา การท่องเที่ยวไทยก็ขยายตัวขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่จากนักท่องเที่ยวชาวจีน 

 

การได้มาเที่ยวในไทย ในสถานที่ท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนจีน และสามารถเอาไปคุยได้ เปรียบเสมือนกับไทยสมัย 20 ปีที่แล้ว ที่เวลาไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ ก็เอาไปคุยกับเพื่อนได้เช่นกัน

 

ในด้านความสำคัญต่อเศรษฐกิจ รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึง 10% ของ GDP ไทย ทำเงินได้มากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ช่วยให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเรื่องนี้แหละ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชอบเอาเงินมาพักไว้ที่ประเทศไทยจากการที่เงินบาทถูกจัดให้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่สถานภาพของเงินบาทก็อาจจะสั่นคลอนได้ในอนาคต จากปัจจัยการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ชะลอตัวลงไป

 

ปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยได้ชะลอตัวลง โดยเจออุปสรรค 3 ประการ อย่างแรกเลยคือ เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว สอง นักท่องเที่ยวนิยมการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการท่องเที่ยว อย่างเช่น Airbnb ซึ่งกระทบกับคนที่ทำธุรกิจโรงแรม และสาม เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าแพงขึ้นเวลามาเที่ยวเมืองไทย นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงหนีไปเที่ยวเวียดนามและกัมพูชาแทน

 

ครึ่งปีแรก 2562 ชะลอตัว แต่มีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2562

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในปี 2562 ลดลงสู่ 40 ล้านคน เติบโต 4% YoY (จาก 4.1 ล้านคน หรือเติบโต 7% YoY) หลังจากชะลอตัวในครึ่งปีแรก 2562 โดยเติบโตเพียง 1% YoY 

 

อย่างไรก็ตาม เป้าตัวเลขดังกล่าวของ ททท. ยังถือว่าเป็นภาพสะท้อนเชิงบวกถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเติบโตเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากฐานต่ำในครึ่งปีหลัง 2561 หลังจากเกิดอุบัติเหตุเรือล่มในภูเก็ต และรัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa-On-Arrival (VOA) ออกไปจนถึงเดือนเมษายน 2563 จากสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2562

 

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2.6% YoY (26.5 ล้านคน) บ่งชี้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 6% YoY ในเดือนสิงหาคม เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้น 5% YoY ในเดือนกรกฎาคม และหากพิจารณาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ประกอบจะพบว่า โมเมนตัมปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานของ AOT เพิ่มขึ้น 7% YoY ในระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน และยอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าของ AAV สำหรับเส้นทางบินจีนในช่วง Golden Week ของเดือนตุลาคม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทางด้านรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ ล่าสุด มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาภายใต้วงเงิน 3 แสนล้านบาท 

 

การท่องเที่ยวคือ อุตสาหกรรมที่จะได้รับการกระตุ้นจากการขยายระยะเวลาฟรีวีซ่าไปอีก 6 เดือนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในด้านนักท่องเที่ยวไทยเองก็มีมาตรการกระตุ้นออกมาเช่นกัน จากการแจกเงิน 1,000 บาท ให้ใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ โดยจะดูจากบัตรประชาชน สำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่เกิน 10 ล้านคน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนภายในวันที่ 1-22 กันยายนนี้ รวมไปถึงสนับสนุนเงินชดเชยหรือ Cash Rebate จำนวน 15% จากยอดใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไม่เกินคนละ 30,000 บาท หรือจะได้รับเงินคืนสูงสุดคนละไม่เกิน 4,500 บาท ผ่านระบบ G-Wallet (สามารถนำไปใช้จ่ายกับผู้ค้าที่มีแอปพลิเคชันถุงเงิน)

 

ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยไม่ได้มีแค่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลว่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทางท่องเที่ยว สำหรับ YTD เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 9% เมื่อเทียบกับหยวน, 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 14% เมื่อเทียบกับยูโร สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 

 

เนื่องจากการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ททท. จึงพยายามดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ (~70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย) เช่น อาเซียน จีน และอินเดีย เดินทางเข้ามามากขึ้น โดยร่วมมือกับศูนย์การค้าและผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อนำเสนอโปรโมชันพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ ททท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 42 ล้านคน หรือเติบโต 4% ในปี 2563

 

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า มาตรการเหล่านี้จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้ฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยว สามารถขับเคลื่อนอย่างไม่มีสะดุดได้มากน้อยแค่ไหน 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising