วันนี้ (25 มีนาคม) ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว 5.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปรับลดลงจากก่อนหน้านี้มองว่าจะขยายตัว 2.8% โดยสาเหตุที่ปรับลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย
ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรคโควิด-19
“GDP ไทยที่ติดลบ 5.3% อยู่บนสมมติฐานว่าจะควบคุมโรคระบาดได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2563 และยังไม่ได้รับรวมผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ”
ทั้งนี้ ธปท. คาดว่า การส่งออกปี 2563 จะติดลบ 8.8% จากก่อนหน้าที่จะเติบโต 0.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ 4.3% การบริโภคภาคเอกชนจะติดลบ 1.5% การลงทุนภาครัฐยังขยายตัว 5.8% และการอุปโภคภาครัฐจะเติบโต 2.6%
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 จะติดลบ 1.0% จากก่อนหน้าที่มองว่าจะอยู่ที่ 0.3%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2564 GDP ไทยมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 3.0%
แบงก์ชาติคงดอกเบี้ย เก็บกระสุนพร้อมใช้เสมอ
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 2/2563 ประกาศ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี โดยมีการลงคะแนน 4 ต่อ 2 โดยกรรมการ 4 เสียงเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และคณะกรรมการอีก 2 เสียงเลือกการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะเศรษฐกิจหดตัวแรง
ทั้งนี้ กนง. ให้น้ำหนักกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 มีนาคม) มีการประชุม กนง. รอบพิเศษ โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 0.75% ต่อปี ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน
ขณะเดียวกันมองว่าตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น หลัง ธปท. ประกาศเกณฑ์ช่วยเหลือ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสกุลเงินหลัก อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน
อย่างไรก็ตาม กนง. จะติดตามสถานการณ์ทั่วโลก และพร้อมใช้นโยบายทั้งดอกเบี้ย และมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า