วันนี้ (28 พฤษภาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
ชัยกล่าวว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ ระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS
การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่
กลุ่ม BRICS คืออะไร
กลุ่ม BRICS เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2006 โดยมีสมาชิก 4 ชาติ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ต่อมาแอฟริกาใต้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วยในปี 2010 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ โดยอียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024
ความน่าสนใจของกลุ่มประเทศ BRICS คือการมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล ครอบคลุมประชากรราว 45% ของโลก
รัสเซียหนึ่งในประเทศสมาชิกมองว่าจะใช้กลุ่ม BRICS เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับชาติตะวันตก ขณะที่ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS แล้วตั้งแต่ต้นปี 2023 และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา
อ้างอิง: