เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Decharut Sukkumnoed เปิดเผยข้อมูลงบประมาณด้านสวัสดิการระหว่างประชาชนและข้าราชการ โดยสืบค้นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 มาดูว่าภาระงบประมาณของประเทศด้านสวัสดิการของฝั่งประชาชนและฝั่งข้าราชการเป็นอย่างไรกันบ้าง
เริ่มต้นจากฝั่งประชาชน
- กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนประมาณ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 134,269 ล้านบาท
- กองทุนประกันสังคม คิดเฉพาะส่วนที่รัฐบาลสมทบเข้ากองทุนทั้งในส่วนของสุขภาพและชราภาพ มีผู้ได้รับประโยชน์ซึ่งก็คือผู้ประกันตน 14.5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 47,011 ล้านบาท
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 9 ล้านคน ใช้งบประมาณ 72,469 ล้านบาท
รวมฝั่งประชาชน 53.5 ล้านคน (รวมจากผู้ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม) ใช้งบประมาณรวมกัน 249,359 ล้านบาท
ฝั่งข้าราชการ
- งบประมาณค่ารักพยาบาลข้าราชการ (จากกรมบัญชีกลาง) มีผู้ได้รับประโยชน์คือข้าราชการและครอบครัวประมาณ 6 ล้านคน ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท
- งบประมาณสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงเงินชดเชยสำหรับสมาชิก กบข. มีผู้ได้รับประโยชน์ 1 ล้านคน ใช้งบประมาณ 54,845 ล้านบาท
- งบประมาณเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่เป็นข้าราชการบำนาญจำนวน 7 แสนคน ใช้งบประมาณ 223,762 ล้านบาท
ฝั่งข้าราชการซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์รวมครอบครัวด้วยประมาณ 6 ล้านคน ใช้ประมาณ 348,607 ล้านบาท มากกว่าฝั่งประชาชนเกือบ 1 แสนล้านบาท
ถ้ารวมงบประมาณสวัสดิการทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันจะเท่ากับ 597,966 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ คือ 6 แสนล้านบาท
ซึ่งงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการจะเท่ากับ 58% ของงบประมาณสวัสดิการทั้งหมด (จากจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งประเทศ) จากตัวเลขนี้คงชี้ให้เห็นถึงภาระงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการได้เป็นอย่างดี
ส่วนงบประมาณสวัสดิการของประชาชนคิดเป็น 42% ของงบประมาณสวัสดิการทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการมากกว่าถึงเกือบ 9 เท่า กล่าวได้ว่าเราอยู่ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ใช้งบสวัสดิการส่วนน้อยของประเทศ
ทั้งนี้การแสดงข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แสดงความเห็นถึงระบบรักษาพยาบาลบัตรทองว่าเพราะรักษาฟรี คนจึงไม่ดูแลสุขภาพ
“วันนี้คนมักจะเป็นโรคความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมัน ไม่ต้องออกกำลังกาย เดี๋ยวไปรักษาฟรี พอไม่ได้คุณภาพก็ด่าคนรักษา ซึ่งเราต้องเข้าใจบริบททั้งหมดด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องการรักษาพยาบาล รัฐบาลนี้ทำเพิ่มเติม ไม่ได้ทำตามเดิมทั้งหมด งบประมาณก็ปรับขึ้น อยากให้ช่วยกันอธิบายตรงนี้ด้วยว่าในวันนี้เราทำให้ดีขึ้นแค่ไหน เราไม่ได้เลิก แต่ปัญหาก็มีบ้าง ซึ่งของเดิมมีปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณและคุณภาพเยอะ ถ้าเข้าใจบริบทเหล่านี้ก็คุยต่อได้ อย่ารู้เพียงหลักการวิชาการอย่างเดียว” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
ภาพประกอบ: Pichamon W