×

เปิดสถิติน่าตกใจ ไทยมีปืนเถื่อนหลายล้านกระบอก แล้วเหตุความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?

07.10.2022
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นฝันร้ายของชาวไทยทั้งประเทศ หลังเกิดเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู

 

แม้เหตุกราดยิงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศไทย หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ในอีกซีกโลก แต่หนึ่งในคำถามที่ผุดขึ้นมาในความคิดของหลายคนทันทีหลังเห็นข่าวคือ ‘ทำไมประเทศไทยถึงมีข่าวยิงกันตายแทบจะรายวัน’ อาวุธปืนหาได้ง่ายขนาดนั้นจริงหรือ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะก่อตัวเป็นพฤติกรรมเลียนแบบวนเวียนไม่จบสิ้นหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าเช่นนี้อีกแล้ว ซึ่งเราได้รวบรวมสถิติที่น่าสนใจ และข้อมูลที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนและเหตุกราดยิง มาไว้ในบทความนี้

 

เปิดสถิติคนไทยกับการครอบครองอาวุธปืน

 

  • “ไทยถูกมองว่าเป็นตลาดมืดค้าอาวุธแห่งหลักของภูมิภาค รองลงมาคือกัมพูชา และเวียดนาม” นี่คือข้อความที่โพสต์หราอยู่บนหน้าเว็บไซต์ gunpolicy.org

 

  • แม้หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรานั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากดูจากสถิติจากเว็บไซต์ gunpolicy.org ในปี 2017 แล้วจะพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการครอบครองปืนสูงมาก อยู่ที่กว่า 10 ล้านกระบอก จากจำนวนประชากร 70 ล้านคน หรือหากแจกแจงให้เห็นภาพง่ายกว่านั้นคือ เฉลี่ยทุกๆ 7 คนที่เดินสวนผ่านเราไป อาจมีคนที่มีปืนแล้ว 1 คน  

 

  • แต่… มีปืนเพียงแค่ 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง 

 

  • ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Population Review เปิดเผยว่า ไทยครองอันดับที่ 15 ในกลุ่มประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน 

 

  • ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไทยเป็นตลาดค้าปืนเถื่อนแห่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนส่วนใหญ่นั้นถูกลักลอบซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

  • สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนของไทยที่บัญญัติไว้อย่างเข้มงวด โดยผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมายมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนการขอรับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนก็เรียกได้ว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยประชาชนต้องผ่านการตรวจสอบประวัติส่วนตัวก่อน โดยพิจารณาถึงรายได้และประวัติอาชญากรรม รวมถึงต้องแจงเหตุผลในการขอครอบครองปืน เช่น ล่าสัตว์ ใช้ในกีฬายิงปืน หรือการป้องกันตัว 

 

  • แต่ก็ดูเหมือนว่าคนไทยหลายคนจะไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย เพราะพวกเขายังคงหาซื้อปืนเถื่อนจากตลาดมืด แถมยังมีการขายปืนเถื่อนผ่านทางออนไลน์กันอย่างโจ่งครึ่ม ไม่ต่างกับการขายเสื้อผ้า หรืออาหารเสริม

 

  • อารอน คาร์ป (Aaron Karp) ที่ปรึกษาอาวุโสของ Small Arms Survey ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ประเมินจำนวนพลเรือนที่ถือครองอาวุธปืนทั่วโลก มองว่า กฎหมายครอบครองปืนในไทย “ไม่ได้เข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้อนุญาตเป็นพิเศษ” แต่เราไม่สามารถมองแค่ในแง่มุมของกฎหมายเพียงอย่างเดียวได้ เพราะเราต้องมองไปถึงทัศนคติที่คนไทยมีต่อการครอบครองปืน รวมถึงมุมมองของเจ้าหน้าที่ด้วย

 

  • ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ตำรวจไทยเพิ่งจับกุมแก๊งค้าอาวุธสงครามข้ามชาติ 17 คน จนเป็นข่าวดัง ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ถูกจับกุมนั้นกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมเอกสาร และออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้าน

 

  • นอกจากตัวเลขข้างต้นแล้ว The New York Times ยังรายงานโดยอ้างข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญว่า ทางการไทยไม่มีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธจำนวนมหาศาลใน 3 จังหวัดชาวแดนภาคใต้ ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อหลายปี ทั้งในรูปแบบของการขับรถและใช้ปืนกราดยิง การซุ่มโจมตีจุดตรวจรักษาความปลอดภัย และวางระเบิดด่านทหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และสถานที่อื่นๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน

 

ย้อนดูเหตุกราดยิงในไทย แม้ไม่บ่อย แต่ก็ต้องจับตา

 

  • เมื่อปี 2019 เคยเกิดเหตุที่มือปืนคร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และประชาชน 15 คน ด้วยการยิงถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในจังหวัดยะลา ซึ่งถือเป็นเหตุกราดยิงที่รุนแรงที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

  • ขณะครั้งสุดท้ายที่ไทยประสบกับเหตุกราดยิงที่รุนแรงระดับนี้ คือเมื่อ 2 ปีก่อน หลังเกิดเหตุกราดยิงโคราช ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตไปถึง 29 คน นับเป็นการกราดยิงสังหารหมู่ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยจนถึงปัจจุบัน 

 

  • ส่วนเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่กำลังนอนพักกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ 

 

  • ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต่างชาติกำลังจับจ้องและโยนคำถามตัวใหญ่ๆ มาใส่ประเทศไทยคือ รัฐจะจัดการกับวัฒนธรรมการครอบครองอาวุธปืนได้เช่นไร ในเมื่อกฎหมายที่ระบุไว้เข้มงวด แต่ดูเหมือนว่าจะเอาไม่อยู่

 

เหตุกราดยิงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่

 

  • เราขอหยิบข้อมูลที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เห็นข่าวเหตุกราดยิงบ่อยครั้งมาเป็นกรณีศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุกราดยิงอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้จริง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพบหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า ผู้ก่อเหตุได้ศึกษาจากคดีอาชญากรรมเก่าๆ และมักเลียนแบบท่าทางหรือกลวิธีในการสังหารของฆาตกรในอดีต 

 

  • รายงานระบุว่า ชายหนุ่มที่ก่อเหตุสังหารเด็กนักเรียนประถมและครูในโรงเรียนประถมศึกษาแซนดีฮุก รัฐคอนเนทิคัต ได้ศึกษาการสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ รวมถึงเหตุสังหารหมู่อื่นๆ อีกมากมาย ขณะชายที่ก่อเหตุกราดยิงในไนต์คลับที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ก็ศึกษาการโจมตีที่เคยเกิดขึ้นในเมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย 

 

  • นักนิติจิตวิทยากล่าวว่า ฆาตกรจำนวนมากมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนฆาตกรในอดีตที่มีแนวคิดเดียวกัน รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนกัน และโกรธแค้นสังคมเหมือนกัน โดยบางคนอาจยกให้ผู้ก่อความรุนแรงในอดีตเป็นไอดอลหรือเป็นผู้บุกเบิกของพวกเขาด้วย

 

  • ฉะนั้น จึงมีข้อแนะนำว่าสิ่งที่สื่อมวลชนและทุกคนควรทำ คือ การหยุดนำเสนอชื่อ ใบหน้า และรายละเอียดการก่อเหตุของคนร้าย และหยุดส่งต่อข้อมูลเหล่านี้บนโลกออนไลน์ เพื่อ ‘ไม่ให้คุณค่า’ กับพฤติกรรมรุนแรง อันอาจนำไปสู่การสร้างให้ชายรายนี้เป็นไอดอลคนใหม่ของกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

 

ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักป่วยทางจิต จริงหรือ?

 

  • ทุกครั้งที่เกิดเหตุกราดยิง ผู้คนมักจะตั้งข้อสันนิษฐานก่อนเลยว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิต จึงทำให้ก่อเหตุที่อำมหิตผิดมนุษย์ได้เช่นนี้

 

  • แต่ในความเป็นจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์พบว่า ‘มีผู้ป่วยทางจิตเพียงส่วนน้อยเท่านั้น’ ที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) ที่มักมีอาการประสาทหลอนหรือหูแว่วได้ยินเสียงว่าจะมีคนทำร้าย 

 

  • ซ้ำร้าย ผู้ที่ป่วยทางจิตส่วนมากมักเป็นเหยื่อจากความรุนแรง มากกว่าที่จะเป็นผู้ก่อเหตุ

 

  • อย่างไรก็ตาม เคยเกิดกรณีที่ผู้ป่วยทางจิตก่อเหตุความรุนแรงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาใช้ ‘ยาเสพติด’ หรือ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ยกตัวอย่างเช่น เคสของ จาเร็ด โลห์เนอร์ (Jared Loughner) นักศึกษาที่ก่อเหตุกราดยิงในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา โดยก่อนก่อเหตุเขาได้โพสต์ข้อความทางโลกออนไลน์ที่บ่งชี้ว่า เขาใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นจนมีอาการประสาทหลอน

 

  • ดร.ไมเคิล สโตน (Michael Stone) นักนิติจิตวิทยาที่เก็บข้อมูลของฆาตกรประมาณ 350 คน ย้อนหลังไปมากกว่า 1 ศตวรรษ กล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของฆาตกรมีอาการป่วยด้วยโรคจิต แต่อีก 80% นั้นเป็นผู้ที่มีปัญหาชีวิตรุมเร้า เช่น อารมณ์โกรธ ความโดดเดี่ยว อารมณ์ซึมเศร้า ความขุ่นเคือง ความหึงหวง

 

เหตุกราดยิงครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตำรวจ หรือกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืนที่รัดกุมขึ้นในสังคมไทยหรือไม่นั้น เรายังคงต้องรอติดตามกันต่อไป แต่เหตุการณ์นี้คงเป็นสัญญาณเตือนว่า รัฐไทยจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีกในอนาคต เพราะไทยไม่อาจถอยกลับไปใช้ข้ออ้างที่ว่า การสังหารหมู่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศ เพราะมันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

 

ภาพ: zef art via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X