จากกรณีเพลง ประเทศกูมี โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship ซึ่งถ่ายทอดเนื้อหาเสียดสีประเด็นทางการเมืองและสังคม ล่าสุดวันนี้ (27 ต.ค.) มียอดวิวใน YouTube (13.45 น.) ทะลุเกิน 6.2 ล้านครั้งแล้ว โดยมีผู้กดไลก์กว่า 3 แสนบัญชี และกดดิสไลก์ 5.2 พันบัญชี และยังขึ้นอันดับ 1 เพลงยอดนิยมใน iTune Thailand สำหรับผู้ที่ใช้งานบน iOS ด้วย
พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งคำถามเรื่องเนื้อหาของเพลงที่อาจหมิ่นเหม่และขัดต่อคำสั่ง คสช. ขณะที่ พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คสช. ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า จะเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องเพลงตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ด้วย
ขณะนี้ในโลกออนไลน์มีความเห็นที่แตกต่างกันต่อประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน บางส่วนมองว่า เนื้อหาเพลงไม่เหมาะสม และทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย ขณะที่อีกส่วนมองว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออก และเนื้อหาหลายจุดก็ยังเป็นความจริง เป็นคำถามคาใจของประชาชนต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวว่า ทางการจะเอาผิดกับทั้งผู้ที่ผลิตผลงาน ผู้ที่โพสต์ หรือกระทั่งผู้ที่แชร์คอนเทนต์ที่อาจโดนโทษหนักเท่ากับผู้ที่โพสต์ เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผู้ที่แชร์หรือส่งต่ออาจเข้าข่ายความผิดตาม ม.14 (5) มีโทษอัตราเดียวกับผู้โพสต์ คือจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เรื่องนี้ก็ยิ่งทำให้กระแสวิจารณ์ดังมากขึ้น
นอกจากนี้ อีกเรื่องท้าทายฝีมือการจัดการของรัฐบาลบนสนามออนไลน์ก็คือ ข่าวที่มีผู้วิจารณ์ว่า ทีมงานแอดมินเพจของนายกฯ ลืมสลับแอ็กเคานต์เข้ามาคอมเมนต์ประเด็นการเมืองจนเป็นเรื่อง ‘โป๊ะแตก’ นั้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีคอมเมนต์โดยบัญชีชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ไปขอให้ติดตามคดีร่วมฟอกเงินโอนรับเช็คกรุงไทย 10 ล้านบาท ของ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะกลัวจะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยปฏิเสธว่า ไม่ใช่อย่างที่สังคมเข้าใจอย่างแน่นอน ไม่ใช่คอมเมนต์โดยนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องทีมงานของเพจนั้นก็ไม่ได้มีใคร มีแค่นายกรัฐมนตรี ตนเอง และคนเพียงไม่กี่คนที่ดูแลเท่านั้น เชื่อว่าเป็นการทำเพจปลอมขึ้นมา และขอให้สังคมชั่งน้ำหนักในการพิจารณาด้วย
จากสองกรณีดังกล่าว ถือเป็นจุดสำคัญที่ทีมงานของรัฐบาลจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับโลกออนไลน์ ที่ตอนนี้ไม่มีใครสามารถจำกัดหรือขีดเส้นตีกรอบได้เบ็ดเสร็จเหมือนสื่อดั้งเดิมยุคก่อนอีกต่อไป นอกจากนี้ดูเหมือนการแก้ไขวิกฤตการณ์ (Crisis Management) ที่ต้องจัดการอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และพลิกประสบการณ์ทางลบให้กลายเป็นบวกนั้นยังจะเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ทีมงานของรัฐบาลจะต้องสอบผ่าน (สักที) ให้ได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล