สถานการณ์แนวชายแดนที่มีข่าวว่ากองทัพบกไทยต้องการให้ฐานทัพของกองทัพว้าที่ตั้งอยู่ในแนวชายแดนไทยถอนตัวออกไปนั้นยังเป็นปกติ กองทัพบกยังยืนยันว่าทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเชื่อว่าการเจรจาจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งเราก็หวังเช่นนั้น
แต่ก็มีคำถามว่า แม้กองทัพบกจะแสดงท่าทีมาตลอดว่าไม่ต้องการใช้กำลัง หรือการใช้กำลังต้องเป็นตัวเลือกสุดท้ายจริงๆ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องไปถึงขั้นนั้น จะเป็นการปฏิบัติการทางทหารในลักษณะใด
การจะตอบคำถามนี้เราต้องพิจารณาสถานการณ์ก่อนว่า เราต้องการให้สถานการณ์ขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบ หรือจำกัดสถานการณ์แค่ความขัดแย้งในพื้นที่หรือการปะทะแบบจำกัด ซึ่งถ้าจะให้อ่านใจค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าเพียงต้องการให้ฐานของกองทัพว้าถอนออกไปจากจุดที่กำหนด กองทัพบกคงต้องการจำกัดการปฏิบัติการทางทหารให้เป็นเพียงความขัดแย้งในพื้นที่เท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้ความขัดแย้งขยายตัวจนกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าตามแนวชายแดนที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท
ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ ก็จะส่งผลถึงการเลือกวิธีปฏิบัติการหรือแม้แต่อาวุธที่จะนำมาใช้ กล่าวคือสำหรับกำลังทางอากาศของกองทัพอากาศซึ่งในพื้นที่นั้นมีกองบิน 4 ที่อยู่ใกล้ที่สุด และมีเครื่องบินโจมตี/ฝึกแบบ T-50TH ของฝูงบิน 401 และเครื่องบินขับไล่ F-16 eMLU ของฝูงบิน 403 ที่สามารถใช้งานได้ แต่คาดว่าจะไม่มีการขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพอากาศ รวมถึงอาวุธที่เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่นจรวด DTI-1G ที่มีระยะยิงไกลถึง 150 กิโลเมตร เพราะการใช้กำลังทางอากาศมักถูกพิจารณาว่าเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ยกเว้นว่าสถานการณ์ขยายตัวมากขึ้นจริงๆ
แต่ถ้าในสมมติฐานว่าการปะทะจะเป็นการปะทะแบบจำกัด ก็เชื่อว่ากองทัพบกจะเลือกใช้กำลังรบที่อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ
กองทัพภาคที่ 3 มีกองพลทหารราบ 2 กองพล คือกองพลทหารราบที่ 7 ซึ่งถูกจัดตั้งใหม่ แต่ล่าสุดถูกปรับไปเป็นกองพลสำรองแล้ว จึงคงเหลือกองพลหลักเพียงกองพลเดียวคือกองพลทหารราบที่ 4 ซึ่งมีหน่วยขึ้นตรงคือกรมทหารราบที่ 4 (ร.4) ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์, กรมทหารราบที่ 7 (ร.7) ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ และกรมทหารราบที่ 14 (ร.14) ค่ายวชิรปราการ จังหวัดตาก นอกจากนั้นยังมีกองพลทหารม้าอีก 1 กองพล คือกองพลทหารม้าที่ 1 ซึ่งมีกรมทหารม้าที่ 2 (ม.2) ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์ และกรมทหารม้าที่ 3 (ม.3) ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ใต้การบังคับบัญชา
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ต้องการใช้กำลังอย่างรวดเร็ว กองทัพภาคที่ 3 มีหน่วย Rapid Deployment Force หรือ RDF ประจำกองทัพภาคคือ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 (ร.7 พัน.1) ที่อยู่ในสถานะเตรียมพร้อมวางกำลังตลอดเวลาซึ่งสามารถใช้งานได้ทันที
แต่ถึงกองทัพภาคที่ 3 จะมีหน่วยจำนวนมาก และมีกำลังรบหลายหมื่นคน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้กำลังรบทั้งหมด เพราะต้องพิจารณาสถานการณ์ โดยเฉพาะจำนวนกำลังรบ ชัยภูมิ ยุทโธปกรณ์ และการเพิ่มเติมกำลังของกองทัพว้า ในกรณีนี้ถ้าเป็นการโจมตีเพื่อยึดฐานปฏิบัติการของกองทัพว้าที่มีขนาดไม่ใหญ่ มีกำลังพลเพียงหลักร้อยคน ก็ไม่ได้จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเป็นกองพลเข้ามาปฏิบัติงาน
โดยหลักการของประเทศตะวันตกที่กองทัพไทยรับมาใช้นั้น การเข้าตีหรือเข้ายึดพื้นที่เป้าหมายจะต้องใช้กำลังมากกว่ากำลังของข้าศึกอย่างน้อย 3 เท่า ดังนั้นถ้าฐานของกองทัพว้ามีกำลังพลโดยรวมราว 300-400 นาย กองทัพภาคที่ 3 ก็สามารถใช้กำลังราว 2 กองพัน หรือใช้ 3 กองพันเพื่ออำนาจการยิงที่มากกว่า ซึ่งทำให้สามารถจัดเป็น 1 กรมทหารราบได้ โดยสามารถดึงกำลังจากกรมทหารราบในพื้นที่ เช่น กรมทหารราบที่ 7 ที่ประจำที่เชียงใหม่เข้ามาใช้ได้ หรืออาจเพิ่มเติมกำลังจากกรมทหารราบที่ 14 ที่ประจำที่จังหวัดตากเข้ามาเพิ่มได้เช่นกัน
การใช้ทหารราบจะต้องมีหน่วยสนับสนุน ซึ่งหน่วยสนับสนุนที่สำคัญที่สุดคือหน่วยปืนใหญ่ ความโชคดีของกองทัพบกไทยคือมีหน่วยปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง ในหลายสมรภูมิที่หน่วยปืนใหญ่ปฏิบัติงานได้อิสระและถูกรบกวนจากฝ่ายตรงข้ามน้อย จะส่งผลให้หน่วยอื่นปฏิบัติภารกิจได้ง่ายและสะดวกมาก เช่นในการปะทะตามแนวชายแดนไทยและกัมพูชาที่ผ่านมา เป็นต้น ดังนั้นในกรณีนี้ต้องมีหน่วยปืนใหญ่สนับสนุน
ปืนใหญ่ที่จะสนับสนุนได้มีสองแบบ คือปืนใหญ่ขนาด 105 มม. ซึ่งเป็นปืนใหญ่ที่มีระยะยิงไม่ไกลคือไม่เกิน 20 กิโลเมตร สามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ยก โดยมักจะใช้เพื่อสนับสนุนหน่วยทหารที่ต้องใช้กำลังโดยตรง ในกรณีนี้อาจจัดปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 (ป.7 พัน.4) ค่ายพระปิ่นเกล้า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้ปืนใหญ่แบบ M101 เข้ามาสนับสนุนได้
ปืนใหญ่อีกแบบหนึ่งก็คือปืนใหญ่ขนาด 1555 มม. ซึ่งเป็นปืนที่มีขนาดใหญ่ มีระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตร จะใช้ในการช่วยสนับสนุนโดยรวมตามแต่ร้องขอ ซึ่งสามารถจัดจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 104 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 (ป.4 พัน.104) ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งใช้ปืนใหญ่แบบ M198 เข้าสนับสนุนได้ แต่ปืนใหญ่แบบนี้เป็นปืนใหญ่ลากจูง คือต้องใช้รถบรรทุกลากปืนใหญ่เข้าที่ตั้ง ถ้ากองทัพภาคที่ 3 ต้องการความคล่องแคล่วในการยิงและย้ายที่ตั้งปืนใหญ่ ก็สามารถใช้ปืนใหญ่อัตตาจรซึ่งเป็นปืนใหญ่ที่ติดบนรถบรรทุกได้ โดยอาจต้องดึงมาจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 20 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 21 (ป.21 พัน.20) ค่ายพระศรีพนมมาศ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งใช้ปืนใหญ่แบบ ATMG มาสนับสนุน
แต่เนื่องจากภูมิประเทศที่กองทัพว้าเลือกตั้งฐานนั้นเป็นภูเขาสูง ทำให้มีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการใช้ยานเกราะ โดยเฉพาะรถถัง ดังนั้นหน่วยที่ใช้ยานเกราะอาจเป็นหน่วยสนับสนุน หรือใช้ทำการรบแบบทหารราบแทน
นอกจากนั้นกองทัพบกยังสามารถร้องขอการสนับสนุนอื่นจากหน่วยในกองทัพบกส่วนกลาง เช่น ถ้าต้องการยิงทำลายเป้าหมายแบบเป็นพื้นที่ สามารถขอจรวดหลายลำกล้องทางยุทธวิธีแบบ SR4 ที่มีระยะยิง 40 กิโลเมตรและยิงจรวดได้ทีละ 40 นัด ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 (ป.71 พัน.711) มาสนับสนุน หรือถ้าฝ่ายกองทัพว้ามีการยิงปืนใหญ่และอาวุธสนับสนุนเข้ามา กองทัพภาคที่ 3 สามารถร้องขอชุดค้นหาเป้าหมายจากกองร้อยทหารปืนใหญ่ค้นหาเป้าหมาย (ร้อย.ป.คปม.) ของกองพลทหารปืนใหญ่ ซึ่งมีเรดาร์ค้นหาที่ตั้งปืนใหญ่ ที่จะตรวจจับกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงเข้าใส่ฝ่ายเรา และคำนวณย้อนกลับไปจนพบที่ตั้งของปืนใหญ่ของกองทัพว้า ซึ่งเมื่อพบแล้วก็สามารถใช้ปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ของฝ่ายเรายิงทำลายได้
กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้ารัฐบาลและกองทัพบกตัดสินใจจะใช้กำลังเพื่อยึดพื้นที่คืนจริงๆ กองทัพบกอาจจัดกำลังราว 1 กรมทหารราบ พร้อมปืนใหญ่สนับสนุนอีก 2-3 กองพัน ก็เพียงพอในการปฏิบัติการ คาดว่าด้วยกำลังที่เหนือกว่ามากทั้งจำนวน อาวุธ เทคโนโลยี และยุทธวิธี ใช้เวลาปฏิบัติการไม่นานก็น่าจะบรรลุผล
แต่การใช้กำลังคือทางเลือกสุดท้าย และควรเป็นทางเลือกสุดท้าย แม้เราจะมีกองทัพเอาไว้เพื่อป้องกันประเทศ และมั่นใจว่าทหารทุกนายถ้าถูกสั่งให้ปฏิบัติงาน ก็จะพร้อมปฏิบัติงานแม้จะมีความเสี่ยงที่จะต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เพราะแนวชายแดนไทย-เมียนมายังไม่ได้ปักปันเขตแดน และที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ความขัดแย้งจบลงด้วยการเจรจา เราก็หวังว่าการเจรจาจะบรรลุผล หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้ากองทัพภาคที่ 3 มีคำสั่งเคลื่อนกำลังจริงๆ เราก็หวังให้กองทัพว้าเห็นว่าด้วยกำลังขนาดนี้การรบจะประสบความสูญเสียมากอย่างไม่จำเป็น และจะเป็นการบังคับให้ทั้งสองฝ่ายพยายามหาข้อสรุปบนโต๊ะเจรจาให้ได้ในที่สุด
และถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นก็จะเป็นการใช้กำลังทหารที่ดีที่สุด นั่นคือการใช้กำลังทหารพร้อมรบเพื่อไม่ให้เกิดการสู้รบนั่นเอง
ภาพ: AFP / Ye Aung THU