วันนี้ (14 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอให้ทางสหรัฐฯ ผ่านการยื่นหนังสือโดย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ถึง Jamison Greer ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (USTR) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดยเนื้อหา ได้เสนอกรอบการหารือที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานนโยบายการค้า และผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยการเจรจา 5 เสาหลัก ได้แก่
- ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Data Center and AI Industry) และการพิจารณาดำเนินการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษี
- เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบิน ส่วนประกอบและอุปกรณ์บริการ โดยปลัดกระทรวงพลังงานพร้อมด้วยผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ได้เดินทางไปรัฐอลาสก้า เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอลาสก้า รวมถึงบริษัทด้านพลังงานของสหรัฐฯ เพื่อหาโอกาสและเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย-สหรัฐฯ
- การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย อาทิ ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งไทยได้เริ่มการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแล้วอย่างจริงจัง
- ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยขณะนี้ ดร.นลินี ทวิสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย รวมถึงภาคเอกชนชั้นนำของไทย อยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมงาน Select USA Investment Summit 2025 เพื่อไปดูลู่ทางการลงทุนในสหรัฐฯ ด้วย
พิชัยกล่าวว่า ล่าสุด สก็อตต์ เบสเซนต์ (Mr. Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีเป็นบวกต่อข้อเสนอของไทย โดยได้พูดถึงประเทศไทย ในการขึ้นเวที Saudi Arabia Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีท่าทีเป็นบวก และกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่ดี แบบเดียวกับที่พูดถึงข้อเสนอของประเทศอินโดนีเซีย และไต้หวัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณบวกจากระดับนโยบายของสหรัฐฯ และคาดได้ว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในระดับ working level ให้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณในการดำเนินการ
“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ พิจารณาให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะหารือเพื่อหาข้อยุติในส่วนของมาตรการภาษีต่างตอบแทน และจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ต่อไป” พิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวว่า ข้อเสนอของไทยถือเป็นข้อเสนอที่อยู่ในจังหวะที่ปรับปรุงตัวเอง ถือว่าวินวินทั้งคู่ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยสิ่งที่ไทยนำเข้าต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการไทย และต้องเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย รวมถึงลดต้นทุนการผลิต ราคาต้องสามารถแข่งขันได้ และเป็นผลดีต่อต้นทุนการผลิตสินค้าแปรรูปที่ไทยจะส่งออกต่อไป
ทั้งนี้ พิชัยกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ จะมีการเจรจากับประเทศใหญ่ๆ ก่อน เพราะมีสินค้าหลายประเภท แต่ในส่วนของไทยที่มีประเด็นน้อยมาก และมีการคุยในระดับเจ้าหน้าที่อยู่ซึ่งต้องรอเวลาก่อน เพราะการเจรจาผ่าน USTR มีเจ้าหน้าที่ 200 คน ต้องมีการแบ่งงานกัน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้คุยเมื่อไร ต้องรอทางสหรัฐฯ จัดคิวให้พูดคุย ซึ่งหวังว่าจะได้พูดคุยในเร็ววัน เพราะขณะนี้ก็ผ่านมา 1-2 เดือนแล้ว
ส่วนสิ่งที่ไทยจะเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ นั้น พิชัยกล่าวว่า จะเน้นเรื่องซัพพลายเชนของรถยนต์ และหากมีส่วนไหนที่เป็นสินค้าที่ไทยจะนำเข้าก็จะหาช่องทางไปร่วมลงทุนด้วย
ส่วนกรณีภาษีจีนลดลงมาอยู่ที่ 30% แต่ไทยยังอยู่ที่ 36% พิชัยกล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาเป็นเพียงการสะท้อนว่าประเทศเหล่านั้นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่จะพยายามลดสัดส่วนการขาดดุล และเป็นประโยชน์กับ 2 ฝ่าย ซึ่งคิดว่าตัวเลขของไทยไม่น่าจะสูงขนาดนี้ และคาดหวังว่าจะอยู่ที่ 10%
พิชัยกล่าวถึงกรณีที่หลายคนมองว่าการเจรจาของไทยล่าช้าเกินไปว่า ไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 และอยากฟังว่าสหรัฐฯ คุยกับประเทศใหญ่ๆ มีเรื่องอะไรบ้าง
“ถ้าพูดตามตรง เวลาเขาไม่คุย เราอาจรู้สึกว่า ทำไมไม่คุยสักที แต่ถ้ามองไปแล้วขอให้คุยให้ทันและให้รู้ว่า คุยกับคนอื่นอะไรบ้าง การคุยในจังหวะเวลาที่เหมาะสมน่าจะดีที่สุด ถามผมว่า ช้าไปหรือไม่ คิดว่า ไม่ช้า เพราะคิดว่าคงจบไล่ๆ กัน เพราะผมมองทางโน้นทุกอย่างคงจบในเวลาไล่เลี่ยกัน” พิชัยกล่าว
ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้มีมติให้พิชัย รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีผลต่อการเจรจาหรือไม่ พิชัยยืนยันว่าไม่เกี่ยว เพราะโดยปกติเมื่อรัฐมนตรีไม่อยู่ก็ต้องมีคนรักษาราชการอยู่แล้ว และคงไม่เกี่ยวข้องกับที่สหรัฐฯ ระงับวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งกลับชาวอุยกูร์