×

รมว.คลัง กางแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ เพิ่มอย่างน้อย 4 หมื่นล้านบาท ก่อนเดินทางเจรจาสหรัฐฯ เลี่ยงภาษีตอบโต้

16.04.2025
  • LOADING...

รมว.คลัง กางแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ เพิ่มอย่างน้อย 4 หมื่นล้านบาท ก่อนเดินทางไปเจรจาที่ประเทศสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์นี้ ยืนยันหลักการเจรจาคือ สหรัฐฯ และไทยต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย 

 

วันนี้ (16 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มอย่างน้อย 1.2 พันล้านบาท (หรือคิดเป็น 3.98 หมื่นล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันนี้) หลังจากร่วมการประชุมหารือกับกรมสรรพสามิต และตัวแทนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้

 

ส่วนแรก: สัญญาที่ ปตท. ทำไว้แล้วว่าจะซื้อก๊าซธรรมชาติจำนวน 1 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ โดยสัญญาดังกล่าวจะเริ่มซื้อปีหน้าเป็นต้นไป

 

ส่วนที่ 2: สัญญาซื้อขายที่ไทยเคยทำไว้ เริ่มจะหมดอายุแล้ว ดังนั้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไทยจึงมีแผนจะทำสัญญาซื้อขายกับสหรัฐฯ แทน เนื่องจากพบว่า เมื่อรวมค่าขนส่งแล้ว การซื้อก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่น โดยจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ไทยจะซื้อก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ ทดแทนสัญญาเดิมที่กำลังจะหมดไป ราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

 

ส่วนที่ 3: การนำเข้าอีเทนเพิ่มเพื่อผลิตปิโตรเคมีอีก 4 แสนตัน ซึ่งได้มีการทำข้อตกลงไปแล้ว คิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์

 

ส่วนที่ 4: การซื้อมาเพื่อขายต่อให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

 

พิชัยอธิบายอีกว่า ปัจจุบันไทยมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่สามารถเก็บก๊าซธรรมชาติได้ ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคไม่มี ดังนั้น ปตท. มีแผนที่จะซื้อมาเพื่อขายต่อด้วย

 

“เรามีที่เก็บ เราจะไม่ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร การซื้อก๊าซธรรมชาติ ไม่ได้ซื้อได้ง่ายๆ เพราะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานก่อน ซึ่งลงทุนแพง แต่เรามีอยู่ก่อนเราก็สามารถซื้อมาเพื่อจำหน่ายให้ประเทศแถวนี้ได้เลย” พิชัยกล่าว

 

ยันดีลก๊าซธรรมชาติ Win-Win ทั้งสหรัฐฯ และไทย

 

พิชัยยืนยันอีกว่า การเจรจาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับสหรัฐฯ ยังยึดหลักการเดิมที่ใช้กับสินค้ากลุ่มอื่นๆ คือทั้งสหรัฐฯ และไทยต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

 

“ไทยโชคดีที่ว่าสิ่งที่ประเทศเราต้องการเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาขายถูก เช่น ข้าวโพดและก๊าซธรรมชาติ ราคาสู้ได้ และถูกกว่าที่อื่น” พิชัยกล่าว

 

รองนายกฯ และ รมว. ยังเปิดเผยอีกว่า ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิ (Net Import) ในหลายภาคส่วน รวมถึงน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ โดยยอดนำเข้าในแต่ละปีก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามลำดับ ตามขีดความสามารถในการพัฒนาของประเทศ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้า LNG ค่อนข้างสูงกว่า 10 ล้านตันต่อปี

 

ปตท. พร้อมพิจารณาซื้อ LNG เพิ่มจากสหรัฐฯ หากราคาแข่งขันได้

 

ภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. หรือ PTT เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ภายหลังตัวแทนจาก ปตท. ร่วมประชุมหารือกับ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การหารือร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันนี้ เป็นการเข้าไปให้ข้อมูลแผนธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้ทีมไทยแลนด์ที่กำลังเตรียมตัวจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ มีข้อมูลภาพรวมที่ครบถ้วนเกี่ยวกับ LNG ที่ประเทศไทยมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ และมีโอกาสในการนำเข้าเพิ่มเติมอย่างไร

 

สำหรับปัจจุบัน PTT มีแผนในการนำเข้า LNG มาจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ บริษัทฯ เซ็นสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัท Corpus Christi Liquefaction LLC (CCL) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Cheniere Energy บริษัทพลังงานจากสหรัฐฯ ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยจะเริ่มต้นส่งมอบในปี 2569 

 

ส่วนกรณีที่บริษัทฯ มีการนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ ที่กำลังจะทยอยครบสัญญาใน 5 ปี บริษัทฯ ก็พร้อมพิจารณาในการซื้อนำเข้า LNG จากแหล่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งที่มี LNG ราคาถูก หากราคาสามารถแข่งขัน (Competitive) จากแห่งประเทศอื่นๆ ได้

 

“ขออธิบายทำความเข้าใจว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้เข้ามาก้าวล่วงแผนธุรกิจของบริษัทฯ การมาหารือกันในวันนี้ ทางบริษัทฯ ได้อธิบายแผนกลยุทธ์ธุรกิจของ ปตท. ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการปรึกษาหารือกับกระทรวงพลังงานมาโดยตลอด การหารือรอบนี้ถือเป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้ท่านรัฐมนตรีเห็นภาพรวม มีข้อมูลนำไปใช้เจรจากับสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มที่” ภัทรลดากล่าว

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ไทยเป็น LNG Hub ของภูมิภาคนั้น ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและ ปตท. ในการดูแลเรื่องดังกล่าว โดยตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญของ ปตท. ทั้งในระยะสั้น, กลาง และยาว ได้กำหนดแผนผลักดันให้ไทยเป็น LNG Hub อยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV รวมทั้งยกระดับธุรกิจของบริษัทฯ ไปสู่ธุรกิจ LNG Value Chain จากปัจจุบันที่นำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้เสริมเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้าในไทย

 

โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีความพร้อมของ Infrastructure คือ คลังรับแอลเอ็นจี (LNG) Terminal 1 ที่มาบตาพุดขนาด 10 ล้านตันต่อปี อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ร่วมทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุน LNG Terminal 2 ขนาดประมาณ 7.5 ล้านตันต่อปีอีกด้วย

 

ภาพ: Ashley Cooper/Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising