×

รมว.ต่างประเทศ ขอบคุณ ไทยได้รับเลือกนั่งคณะมนตรี UNHRC วาระ พ.ศ. 2568-2570 พร้อมใช้จุดแข็งของไทยเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2024
  • LOADING...
UNHRC

วันนี้ (10 ตุลาคม) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วาระ ค.ศ. 2025-2027 หรือ พ.ศ. 2568-2570 ซึ่งมีการออกเสียงลงคะแนนที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียนที่ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในตำแหน่งนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการยอมรับในบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

 

มาริษยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นสะพานเชื่อมและประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยแสวงหาทางออกและฉันทามติ โดยอาศัยจุดแข็งของไทยที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็มีความเข้าใจในบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ของประเทศที่กำลังพัฒนา

 

มาริษยังย้ำอีกว่า จะนำแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นส่วนต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของระหว่างประเทศ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไปด้วย

 

มาริษยังให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริม รวมถึงคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนคนไทยในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีความพยายามดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย, การยกเลิกคำสั่งของ คสช., การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม, การต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล, การปลดล็อกอุปสรรค และการปรับปรุงกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่มิตรประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

 

นอกจากนั้น ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะผลักดัน ในฐานะสมาชิก UNHRC ครั้งนี้ จะรวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทและทบทวนทิศทางการดำเนินงานของ UNHRC เพื่อให้ UNHRC ตอบสนองต่อความท้าทายของโลกและความท้าทายใหม่ๆ ในด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนับสนุนให้ UNHRC มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าและพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

47 ประเทศ 5 ภูมิภาค

 

ทั้งนี้ UNHRC มีสมาชิกจำนวน 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ, กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ, กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ, กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ

 

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิก UNHRC จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, คูเวต, คีร์กีซสถาน, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม

 

โดยที่ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก UNHRC วาระ ค.ศ. 2025-2027 หรือ พ.ศ. 2568-2570 ซึ่งต้องแข่งขันกัน 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไซปรัส, กาตาร์, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย และไทย สำหรับตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค

 

อย่างไรก็ตาม ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก UNHRC ระหว่าง ค.ศ. 2010-2013 หรือ พ.ศ. 2553-2556 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธาน UNHRC ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ. 2553 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 หรือ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะและการทำงานของ UNHRC ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธาน ได้นำการหารือและเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้

 

นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก UNHRC เมื่อ ค.ศ. 2011 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบ UNHRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่างของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising