×

มองไทยผ่านกรณีศึกษาสกุลเงินลีรา: วิกฤตค่าเงินอ่อนค่า = วิกฤตเศรษฐกิจ?

28.03.2021
  • LOADING...
มองไทยผ่านกรณีศึกษาสกุลเงินลีรา: วิกฤตค่าเงินอ่อนค่า = วิกฤตเศรษฐกิจ?

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • เมื่อเงินลีราตุรกีอ่อนค่า 15% อย่างรวดเร็ว คล้ายกับวิกฤตเมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 นักวิเคราะห์ชี้ความเสี่ยงกระทบไทยจำกัดเพราะจุดเชื่อมต่อกันน้อย แต่อาจกระทบเงินทุนไหลเข้า-ออก
  • วิกฤตลีราตุรกีเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจมหภาคที่ไม่แข็งแกร่งนัก และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการปรับตัว จนมาเจอโควิด-19 ทำให้อาการหนักขึ้น
  • แก้ปัญหาวิกฤตลีราตุรกี ต้องเร่งแก้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล ความเชื่อมั่น และความชัดเจนของมาตรการการเงินและคลัง

ต้นสัปดาห์นี้ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าร่วงลง 15% และต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ลดลงต่ำกว่า 8.00 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว แม้ว่ารอบนี้การอ่อนค่าของลีราจะเกิดขึ้นจากข่าวประธานาธิบดีตุรกีปลดผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีกลางอากาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 

 

แต่ถ้าย้อนรอยดู 3-4 ปีที่ผ่านมา ลีราตกอยู่ในวิกฤตค่าเงินเสมอ และนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเรื่องนี้เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจของตุรกีเช่นกัน ทว่าวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตค่าเงินเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร และกรณีนี้จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร? 

 

วิกฤตลีรา เปิดฉากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่   

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย THE STANDARD WEATH ว่า สกุลเงินลีราตุรกีมีปัญหามาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ที่ค่าเงินลีราอ่อนค่ากว่า 30% ซึ่งตุรกีเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศตลาดกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีปัญหามาต่อเนื่อง ยิ่งมีข่าวการปลดผู้ว่าธนาคารกลางตุรกีจึงทำให้เสียความเชื่อมั่นในระบบการเงินต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของวิกฤตตุรกีมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยตุรกีมีเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่แข็งแกร่งนักและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการปรับตัวจนมาเจอโควิด-19 ทำให้อาการหนักขึ้น

 

“ตอนนี้จากการปลดผู้ว่าฯ ทำให้เสียความเชื่อมั่นมาก โดยธนาคารกลางต้องแอ็กทีฟมากกว่านี้ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนตัวระบบเศรษฐกิจ ภาคการคลังต้องไม่ขาดดุล และดุลบัญชีเดินสะพัดต้องไม่ขาดดุล” 

 

มองไทยผ่านกรณีศึกษาสกุลเงินลีรา: วิกฤตค่าเงินอ่อนค่า = วิกฤตเศรษฐกิจ?

 

เงินบาทไทย vs. ลีราตุรกี ภาพเศรษฐกิจ ‘เหมือนและต่าง’ กันอย่างไร?

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของตุรกีแม้ว่าจะเป็นประเทศ Emerging Market เหมือนกัน แต่ตุรกีพื้นฐานยังอ่อนแอ เช่น การพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเยอะ เงินเฟ้อสูง หรือประเทศที่มีแนวโน้มค่าเงินอ่อนลงได้ 

 

ทั้งนี้ในส่วนของไทยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง ทั้งการเกินดุลการค้า การไม่พึ่งพาต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ 

 

โดยเป็นทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากตุรกีเพราะเรามีสถานะ/เสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง และไทยก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

 

ดังนั้นจากวิกฤตลีราตุรกีอาจส่งผลกระทบค่าเงินให้มีโอกาสอ่อนค่าบ้าง เมื่อวิกฤตเงินลีราเป็นแรงหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ในภาพรวมยังมีผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด เพราะมีจุดเชื่อมโยงกับตุรกีน้อย เช่น สัดส่วนการส่งออกของไทยไปตุรกีอยู่ที่ประมาณ 0.4% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าของไทยจากตุรกีมีเพียง 0.2% ของมูลค่าการนำเข้ารวม

 

ส่วนพิพัฒน์มองว่า ผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทยคือ หากความเสี่ยงของประเทศ EM สูงขึ้น อาจเห็นช่วงเวลาและการไหลออกของเม็ดเงินบางส่วนที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่มองว่ายังมีผลจำกัด 

 

มองไทยผ่านกรณีศึกษาสกุลเงินลีรา: วิกฤตค่าเงินอ่อนค่า = วิกฤตเศรษฐกิจ?

 

แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างประเทศ EM ต้องเริ่มที่จุดไหน? 

นริศกล่าวต่อว่า การแก้ไขและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต้องใช้เวลา และความกล้ามาก ขณะที่ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความเชื่อมั่นของธนาคารกลางและความเป็นอิสระทางการเมือง โดยธนาคารกลางยังต้องสื่อสารให้ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบาย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ช่วงที่ผ่านมามีการประกาศที่ชัดเจนและโปร่งใสมาก ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนในตลาดลง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกียังอ่อนแอจึงไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยธนาคารกลางตุรกีอาจควบคุมสถานการณ์ยากกว่าวิกฤตรอบอื่นๆ เพราะขาดทรัพยากรทางการเงิน จากทุนสำรองที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินลีราและการสกัดความเสี่ยงจากภาวะเงินทุนไหลออก และทุนสำรองของตุรกีจะลดต่ำลงไปอีก ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ต่างประเทศ

 

พิพัฒน์กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาสู่ตลาด EM มองว่าต้องมีความเสี่ยงนี้อยู่แล้ว เช่น เรื่องการพิมพ์เงิน ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอด เช่น ในเม็กซิโก ฯลฯ แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็เห็นภาวะคนกังวลต่อภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งและจะกระทบประเทศอื่นๆ (เช่น ที่เกิดขึ้นในไทยปี 2540 รัสเซียในปี 2541 ตุรกีในปี 2561)

 

“สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคือธนาคารกลางที่เป็นอิสระและดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งกรณีตุรกีปีนี้ที่เข้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะถูกกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เลยเห็นการปลด (ผู้ว่าธนาคารกลางตุรกี) จึงเห็นชัดว่าถูกแทรกแซงชัดเจน จึงมีความกังวลว่าถ้าเปลี่ยนนโยบายไปอีก หรือการพิมพ์เงินอาจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และคนอาจจะถอนเงินออก”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising