เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาล โดยมี สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้รับเพื่อยื่นข้อเสนอการปกป้องธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มและบริษัทเทคโนโลยีจากต่างชาติ
ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ให้บริการแบบ Super App (แอปฯ ที่รวมบริการหลายๆ อย่างไว้ในที่เดียว เช่น LINE, Grab, Gojek ฯลฯ), OTA (ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก) และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าออนไลน์
โดยข้อเสนอในการปกป้องและการต่อกรกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ประกอบด้วย
- ผลักดันมาตรฐานเดียวกันให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยในประเด็น Tax Incentive ที่ผู้ประกอบการจีนได้รับ (ธุรกิจจีนขายสินค้าได้โดยตรงในราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่เสียภาษีนำเข้า)
- กำหนดสัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายใน e-Marketplace ภายในประเทศให้เกิดความเท่าเทียมและชัดเจน เพื่อป้องกันผู้ประกอบการถูกเอาเปรียบ
- ออกนโยบายสนับสนุนสินค้าในประเทศให้จำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
- เสนอสร้างกฎหมาย Anti Trust Law เพื่อป้องกันการผูกขาดในตลาด
- ลดภาษีให้กับผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่อุดหนุนสินค้าและบริการจากสตาร์ทอัพไทย โดยสามารถนำภาษีที่เก็บจากแพลตฟอร์มต่างประเทศมาหนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจไทยได้อีกทาง
พร้อมกันนี้ สมาคมสตาร์ทอัพไทยยังได้นำเสนอ ‘ข้อเสนอนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย’ เพื่อป้องกันเอกราชทางดิจิทัลของไทยใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
- ออกนโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ทอัพไทย เช่น ชิม ช้อป ใช้สตาร์ทอัพ, หนึ่งกระทรวง หนึ่งสตาร์ทอัพ, จัดงานจับคู่สตาร์ทอัพไทยกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
- ออกนโยบายเพิ่มข้อได้เปรียบในการทําการค้าสำหรับสตาร์ทอัพไทย เช่น การเรียกเก็บภาษีจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ และลดภาษีสตาร์ทอัพในประเทศ
- ปลดล็อกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการสตาร์ทอัพไทย เช่น ESOP, Convertible Note, Capital Gain Tax Exemption และ Vesting เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์