แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า กรมอนามัยได้เตรียมแผนรองรับภาวะแล้งฉุกเฉิน คาดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 เกือบทุกภาคของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% ประกอบกับสภาพอากาศ หนาวเย็นและความชื้นต่ำ ทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น
จากภัยดังกล่าว น้ำทะเลหนุนสูงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อให้เกิดน้ำประปาเค็ม ผู้ที่บริโภคน้ำประปาอาจรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร
กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่ม และการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือ ในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไป จะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า คนเราควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด
ความเค็มจากน้ำประปา เพิ่มเข้าสู่ร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ดังนั้น ในช่วงน้ำประปาเค็ม กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ สำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวด ปิดสนิทแทนจะดีกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์