×

โฆษก กต. ยืนยัน ไทยหนุนสันติภาพเมียนมา พร้อมเป็นตัวกลางเจรจาทุกฝ่าย คาดด่านการค้าพรมแดนแม่สอดกลับมาเปิดได้เร็วๆ นี้

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (24 เมษายน) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2567 ภายหลังจากที่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานการณ์และให้กำลังใจประชาชนตามแนวชายแดน 

 

นิกรเดชเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้รับทราบสถานการณ์ว่าปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีการขยายพื้นที่การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านและทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีพื้นที่ยุทธศาสตร์คือเมืองเมียวดี แม้ว่าขณะนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่ได้ยินเสียงการปะทะกัน ทำให้เราสามารถส่งผู้หนีภัยความไม่สงบที่มาอยู่ในฝั่งไทยจาก 3,000 กว่าคนกลับเมียนมาได้แล้วบางส่วน จนขณะนี้เหลือชาวเมียนมาอยู่แค่ประมาณ 650 คน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนั้น 

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้ามายังประเทศไทย เพราะสถานการณ์ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 

 

ขณะเดียวกัน กองกำลังนเรศวร โดยหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ก็เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังพล เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด เพื่อรักษาอธิปไตย ดูแลความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ โดยไม่ให้ใช้ดินแดนไทยดำเนินกิจการต่อต้าน ซึ่งไทยยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมอบหมายงานให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินกิจการด้านการทูตและการต่างประเทศ พร้อมทำหน้าที่สื่อสารต่อสาธารณชนไทยและต่างประเทศด้วย ส่วนศูนย์สั่งการที่จังหวัดตาก จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข่าวในพื้นที่ ฉะนั้นกระทรวงฯ จะให้ข่าวอย่างสม่ำเสมอ 

 

ขณะที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องความมั่นคง ที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้ประสานกรอบ ASEAN Troika Plus และ ASEAN เพื่อเป็นตัวกลางในการช่วยเจรจา พร้อมเสนอให้มีการประชุม ASEAN Troika Plus เพื่อหารือให้มีสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมาโดยเร็ว ขณะนี้ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใดยังไม่มีข้อสรุป เพราะเมียนมายังไม่ได้ประสานขอมา

 

นิกรเดชเน้นย้ำว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับเมียนมา แต่เป็นความขัดแย้งภายในเมียนมา เราจึงมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ทั้งพลเรือนและทหารเมียนมาอย่างไร โดยยึดหลักปฏิบัติสากลเมื่อเดินทางเข้ามายังไทย เช่น ตรวจอาวุธ เปลี่ยนเครื่องแบบ และให้กลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบ โดยใช้หลักการไม่ส่งกลับไปอยู่ในที่ซึ่งมีภัยอันตราย สมดุล มั่นคง และมีสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นยืนยันว่าเรามีความพร้อมช่วยเหลือทั้งด้านมนุษยธรรม และการสาธารณสุข โดยเมื่อเดินทางเข้ามาเราจะมีการแยกแยะคนแต่ละกลุ่มเพื่อเก็บข้อมูล จากนั้นก็จะนำไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ก่อนที่จะไปยังพื้นที่พักรอกว่า 50 จุดที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่

 

ส่วนแนวโน้มที่ด่านพรมแดนแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 2 จะเปิดนั้น นิกรเดชกล่าวว่า ตอนนี้ขึ้นอยู่กับฝั่งเมียนมาว่าเจรจากันไปถึงไหน และทราบว่าทุกฝ่ายในเมียนมาก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดช่องทางการเดินทาง เพราะสะพานมิตรภาพ 2 เป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ดังนั้นการปิดก็เป็นไปเพราะมีความเสี่ยง และเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ 

 

“เชื่อว่าสะพานมิตรภาพ 2 น่าจะเปิดได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเมื่อวานนี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้หารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายก็มีความประสงค์เดียวกันว่า อยากจะให้การค้าชายแดนกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นิกรเดชกล่าว 

 

สำหรับกรณีที่ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน และเป็น Advocate for Peace นั้น นิกรเดชกล่าวย้ำว่า คงเป็นเรื่องปกติหากไทยจะเป็น Active Promoter of Peace เพราะเราได้รับผลกระทบ จึงไม่แปลกที่จะแสดงจุดยืนว่าเรามีความพร้อมในการเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา ฉะนั้นหากเมียนมามีความพร้อมเราก็จะเข้าไปช่วยทันที เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและความสงบในภูมิภาคอาเซียน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X