×

จุดยืนไทยต่อเยรูซาเลมควรเป็นอย่างไร เมื่อนานาชาติไม่ยอมรับการเปิดสถานทูตสหรัฐฯ

16.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่าการเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในเยรูซาเลมของผู้แทนประเทศต่างๆ สะท้อนถึงนโยบายและการวางตัวทางการทูต ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงยึดมติสหประชาชาติที่คัดค้านการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
  • หลังจากนี้ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่อตะวันออกกลางอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งในภูมิภาคมีแนวโน้มขยายตัวและตึงเครียดยิ่งขึ้น ขณะที่ไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งอิสราเอลและชาติอาหรับ ดังนั้นจึงควรยึดหลักไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและถือเสียงข้างมากในประชาคมโลก ซึ่งจะปลอดภัยที่สุด

นครเยรูซาเลม จุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของหลายชนชาติและศาสนาสำคัญของโลกได้กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับโลกมุสลิมอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดสถานทูตอิสราเอลประจำนครเยรูซาเลมอย่างเป็นทางการ โดยพิธีการจัดขึ้นตรงกับวันครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งอิสราเอล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่ง ‘ความวิบัติ’ ในสายตาชาวปาเลสไตน์ที่ต้องระหกระเหินเร่ร่อนจากดินแดนมาตุภูมิ  

 

และเป็นอีกครั้งที่นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้รับการตอบรับจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาคมโลก เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งทูตเข้าร่วมพิธีเปิดครั้งนี้

ดร.มาโนชญ์ อารีย์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้วิเคราะห์ท่าทีของประเทศต่างๆ ที่มีต่อกรณีเยรูซาเลมกับ THE STANDARD ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น การตัดสินใจร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในนครเยรูซาเลมถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้ามองจากจำนวนประเทศที่ตอบรับคำเชิญ ซึ่งมีเพียง 33 ประเทศจากทั้งหมด 86 ประเทศนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยหรือคล้อยตามสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังตอกย้ำว่านโยบายต่างประเทศของประเทศเหล่านี้ยังคงยึดโยงอยู่กับมติของสหประชาชาติเป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับฝ่ายไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ยืนยันบนเว็บไซต์ว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิสราเอลไม่ได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดครั้งนี้ รวมทั้งไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมแต่อย่างใด

 

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของประเทศต่างๆ ในการเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในเยรูซาเลมนั้น ดร.มาโนชญ์ได้แบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

 

 

ประเด็นแรกเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากดินแดนเยรูซาเลมยังคงเป็นพื้นที่สากลตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นการที่อิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่เยรูซาเลมบางส่วนจากจอร์แดนหลังชนะศึก ‘สงคราม 6 วัน’ เหนือชาติอาหรับในปี 1967 จึงทำให้ประชาคมนานาชาติไม่ให้การยอมรับ

 

อย่างที่ทราบกันว่าที่นี่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของชาวคริสต์ อิสลาม และยูดาห์ แต่ที่ผ่านมาทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็ยกภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว

 

แต่การย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม รวมถึงการประกาศรับรองเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งชาติตะวันตกก็แสดงจุดยืนคัดค้านมาตั้งแต่แรก เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ก็เป็นชาวคริสต์

 

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีทูตจากหลายประเทศในยุโรปที่ปฏิเสธเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงเยอรมนี โปรตุเกส สวีเดน โปแลนด์ และไอร์แลนด์ โดยนับเป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงความไม่ลงรอยในนโยบายต่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป

 

ประเด็นต่อมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนย้ายสถานทูตจากกรุงเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลมตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยประเทศไทยซึ่งร่วมประชุมครั้งนั้นได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนด้วยการโหวตคัดค้านสหรัฐฯ ร่วมกับประชาคมโลก

 

ดังนั้นการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะตัดสินใจตอบรับคำเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตจึงต้องระมัดระวังท่าทีไม่ให้ขัดแย้งกับจุดยืนของตนในเวทีสหประชาชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว

 

 

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วมงาน ยกเว้นเมียนมาและฟิลิปปินส์ เพราะเมื่อเราย้อนดูการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนั้นจะพบว่าเมียนมาไม่ได้เข้าร่วมประชุม ขณะที่ฟิลิปปินส์ได้งดออกเสียง

 

ดังนั้นทั้งเมียนมาและฟิลิปปินส์จึงไม่ได้แสดงจุดยืนทางการทูตที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้การร่วมพิธีเปิดของสองประเทศนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

 

ประเด็นที่ 3 งานเปิดสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นพิธีการที่ดำเนินคู่ขนานกับเหตุการณ์รุนแรงในฉนวนกาซา โดยทหารอิสราเอลได้ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงที่ลุกฮือต่อต้านอิสราเอลและสหรัฐฯ อย่างหนัก พร้อมสังหารชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 55 คน

 

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาพหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการเปิดสถานทูต ขณะที่อีกภาพหนึ่งคือการใช้ความรุนแรง โดยที่บางสำนักข่าวในต่างประเทศใช้คำว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ หรือ ‘การสังหารหมู่’ เลยทีเดียว

 

 

เพราะฉะนั้นการไปร่วมงานนี้จึงเปรียบเสมือนการเดินข้ามศพและกองเลือดเพื่อไปร่วมเป็นเกียรติในพิธีนี้

 

ประเด็นสุดท้าย การร่วมพิธีเปิดสถานทูตมีขึ้นในช่วงเวลาที่นานาชาติกำลังประณามและคัดค้านการเปิดสถานทูตอย่างแข็งกร้าว โดยเฉพาะในโลกมุสลิมที่มองว่าสหรัฐฯ ไม่มีความเป็นกลาง

 

ดังนั้นไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) จึงต้องระมัดระวังท่าทีเป็นพิเศษ

 

สิ่งที่เราเห็นก็คือหลังจากสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดสถานทูตในเยรูซาเลมแล้ว ตุรกีได้เรียกประชุมกลุ่ม OIC เพื่อหารือเรื่องนี้ทันที เพราะฉะนั้นการวางตัวของไทยจะลำบากยิ่งขึ้นหรือเกิดความอีหลักอีเหลื่อ เนื่องจากเราเป็นมิตรกับทั้งโลกมุสลิม อิสราเอล และสหรัฐฯ

 

การดำเนินนโยบายทางการทูต นอกจากจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว ยังควรคำนึงถึงความสง่างามบนเวทีระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นไทยจึงต้องระมัดระวังท่าทีของตัวเองเป็นพิเศษ ถ้าความขัดแย้งในตะวันออกกลางขยายตัวไปมากกว่านี้

 

 

โอกาสเกิดสงครามใหญ่

ดร.มาโนชญ์มองว่าตะวันออกกลางยังคงติดหล่มสงครามตัวแทนที่ดำเนินยืดเยื้อและมีทีท่าว่าจะขยายตัวเป็นวงกว้างจนกลายเป็นการเผชิญหน้าห้ำหั่นกันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคู่ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล หรือคู่ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน นอกจากนี้ยังมีประเทศมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งต่างก็หนุนหลังฝ่ายของตัวเองอย่างไม่ยอมลดราวาศอกต่อกัน

 

ดังนั้นสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางหลังจากนี้จึงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นนโยบายของประเทศไทยที่มีต่อตะวันออกกลางจึงต้องมีความละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น

 

เมื่อเรามองภาพรวมในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อคาบสมุทรเกาหลีและตะวันออกกลางแล้ว จะเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเตรียมปุ๋ยพรวนดินและรดน้ำต้นไม้เพื่อปลูกสวนดอกไม้ให้เจริญงอกงามในคาบสมุทรเกาหลี แต่ในตะวันออกกลาง ดูเหมือนสหรัฐฯ กำลังเอาน้ำมันไปราดกองไฟเพื่อเผาทุ่งหญ้าจนวอดวาย ซึ่งเป็นภาพที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

เพราะฉะนั้น ดร.มาโนชญ์จึงมองว่าไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและระแวดระวังในท่าที หรืออย่างน้อยควรยึดมติเสียงข้างมากในที่ประชุมสหประชาชาติเป็นหลัก ซึ่งระยะหลังไทยก็ทำเช่นนั้น

 

 

อิหร่านคือตัวแปรสำคัญ

อิหร่านเกี่ยวข้องกับปัญหาขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เป็นอย่างมาก เพราะอิหร่านมีปัญหาระหองระแหงกับอิสราเอลมานานหลายทศวรรษ และเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ให้ลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอลด้วย ขณะที่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านก็สร้างความหวาดระแวงให้กับอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา

 

สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอิสราเอลก็ต้องการให้ชาติอาหรับผนึกกำลังกันปิดล้อมอิหร่านเพื่อสกัดอิทธิพลของอิหร่านที่กำลังแผ่ขยายในซีเรีย อิรัก และเยเมน

 

หากวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน เราอาจต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ

 

จะเห็นได้ว่าการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของทรัมป์มีเป้าหมายสำคัญคือการหาแนวร่วมในกลุ่มประเทศอาหรับเพื่อจัดการกับอิหร่าน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามหมายเลขหนึ่งของภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ พยายามฉายภาพให้เห็นว่าอิหร่านเป็นปัญหาด้านความมั่นคงร่วมกันของตะวันออกกลาง หรือพยายามทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงร่วมกัน

 

ประกอบกับนายกรัฐมนตรีเบนจามัน เนทันยาฮู ของอิสราเอลได้เปิดโปงเอกสารลับเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งทำให้ทรัมป์มีความชอบธรรมยิ่งขึ้นในการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ จัดทำร่วมกับอิหร่านเมื่อปี 2015 ในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา การตัดสินใจเช่นนั้นส่งผลให้อิหร่านเกิดความเคียดแค้นสหรัฐฯ และอิสราเอลมากขึ้นไปอีก

 

ผลลัพธ์จากการที่สหรัฐฯ พยายามฉายภาพให้เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในตะวันออกลาง ทำให้ประเทศในแถบอ่าวอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบียรู้สึกว่าอิหร่านน่ากลัว และบีบให้ประเทศเหล่านี้ต้องยอมประนีประนอมเกี่ยวกับจุดยืนของตัวเองบางอย่าง ดังเช่นกรณีปัญหาปาเลสไตน์ จากเดิมที่ซาอุดีอาระเบียเคยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม และไม่ยอมรับในสิทธิของอิสราเอลเหนือดินแดนปาเลสไตน์ด้วย

 

เพราะฉะนั้นถ้าดูจากนโยบายของสหรัฐฯ ตั้งแต่แรก จะเห็นว่าพวกเขาต้องการให้กลุ่มอาหรับรวมตัวกันเพื่อต่อกรกับอิหร่าน ไม่ใช่อิสราเอล ส่วนอิหร่านเองก็รู้ตัวดีว่ากำลังถูกปิดล้อม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อิหร่านพยายามขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใกล้กับอิสราเอล

 

เพราะถ้าเกิดสงครามขึ้น อิหร่านก็พร้อมเปิดฉากโจมตีอิสราเอลโดยใช้ฐานทัพในซีเรียได้อย่างทันท่วงที  

 

 

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สถานการณ์บริเวณที่ราบสูงโกลันจึงมีความตึงเครียด โดยที่อิสราเอลได้ยิงขีปนาวุธเข้าไปในซีเรียเพื่อทำลายที่มั่นและยุทโธปกรณ์ของอิหร่าน

 

ด้วยเหตุนี้อิหร่านจึงถือเป็นตัวแปรสำคัญในตะวันออกกลาง แต่นอกจากการขยายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคนี้แล้ว อาหรับยังเผชิญกับกระแสการเมืองอิสลามที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2010 ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับชนชั้นปกครองเช่นกัน

 

ภัยคุกคามนี้ไม่ได้มีเฉพาะในซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่รวมไปถึงอิสราเอลด้วย ซึ่งมองว่าปรากฏการณ์แบบนี้เป็นอันตรายต่ออิสราเอลเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในระยะหลังซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ซาอุดีอาระเบียยอมให้เครื่องบินของอิสราเอลบินผ่านน่านฟ้า หรือการที่ซาอุดีอาระเบียพยายามโน้มน้าวให้ผู้นำปาเลสไตน์ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลมีเป้าหมายเดียวกันและมีศัตรูร่วมกันนั่นเอง

 

รัฐบาลไทยควรวางตัวอย่างไรกับปัญหานี้

ดร.มาโนชญ์แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ไทยควรวางตัวเป็นกลางแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งจะสง่างามและปลอดภัยที่สุด

 

ที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของไทยก็เป็นเช่นนี้ เพียงแต่จากนี้ต่อไปอาจมีความท้าทายใหม่ มีเงื่อนไขใหม่ๆ ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ซึ่งทำให้เราต้องระแวดระวังมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X