กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ออกมาแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม ‘THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS™ CHALLENGE’ ที่ร่วมมือกับ Guinness World Records
ขณะที่วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าว ททท. ระบุว่า เพื่อเป็นการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) 5F ของไทย และขานรับนโยบาย Soft Power ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับ 5F ได้แก่
- Food (อาหาร)
- Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย)
- Film (ภาพยนตร์)
- Fight (มวยไทย)
- Festival (เทศกาลประเพณีไทย)
รูปแบบของงานคือจัดการแข่งขันใน 5 หัวข้อที่สุดของโลก ได้แก่
- ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
- กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที
- กินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
ททท. ระบุว่า การแข่งขันแต่ละรายการได้มีการเลือกเอาสินค้าท่องเที่ยวและ Soft Power ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานำเสนอ อาทิ ปาท่องโก๋ ได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ขนมสตรีทฟู้ดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกจาก TasteAtlas, กางเกงช้าง เป็นที่รู้จักและเป็นของฝากยอดนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ, มวยไทย เป็นกีฬาซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลก และเทศกาลผีตาโขน ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน Soft Power ในแง่ของการแสดงอัตลักษณ์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้าน Soft Power รวมถึงดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นวันไหน
กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ พาร์ค พารากอน สยามพารากอน
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นรอบ รอบละ 10 นาที หมุนเวียนตามลำดับ ได้แก่
- กินปาท่องโก๋มากที่สุด (ผู้แข่งขันรอบละ 10 คน)
- ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุด (ผู้แข่งขันรอบละ 3 คน)
- กินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุด (ผู้แข่งขันรอบละ 10 คน)
- ใส่กางเกงช้างมากที่สุด (ผู้แข่งขันรอบละ 10 คน)
- ใส่หน้ากากผีตาโขนได้มากที่สุด (ผู้แข่งขันรอบละ 10 คน)
มีลำดับการจัดกิจกรรมในแต่ละวัน ดังนี้
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เริ่มแข่งขันหัวข้อแรกเวลา 12.00-20.40 น. ตามลำดับ รวมการแข่งขันทั้งหมดหัวข้อละ 9 รอบ
- วันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2567 เริ่มแข่งขันหัวข้อแรกเวลา 11.00-20.40 ตามลำดับ รวมการแข่งขันทั้งหมดหัวข้อละ 10 รอบ
- วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการตรวจสอบผลการแข่งขันจากวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ระหว่างการแข่งขันของผู้ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 พร้อมบันทึกสถิติและรับประกาศนียบัตรจาก Guinness World Records
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันผ่านเว็บไซต์ของโครงการ หรือสมัครที่จุดลงทะเบียนภายในงาน โดยสามารถลงแข่งขันได้มากกว่า 1 รายการ และเลือกลงแข่งขันในแต่ละหัวข้อได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะการแข่งขันในลำดับที่ 1-10 ของแต่ละหัวข้อจะได้รับของรางวัล ดังนี้
- ผู้ชนะลำดับที่ 1 จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ‘Guinness World Records’ พร้อม Voucher ท่องเที่ยว และเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
- ผู้ชนะลำดับที่ 2 จะได้รับ Voucher ท่องเที่ยว และเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท
- ผู้ชนะลำดับที่ 3 จะได้รับ Voucher ท่องเที่ยว และเงินรางวัลมูลค่า 3,000 บาท
- ผู้ชนะลำดับที่ 4-10 จะได้รับ Voucher ท่องเที่ยวเป็นของที่ระลึก