×

ไทยพบวิกฤตล่ามภาษามือขาดแคลนหนัก วราวุธเร่งดัน พม. จับมือสถานศึกษา จัดหลักสูตรอบรมด่วน

โดย THE STANDARD TEAM
02.04.2024
  • LOADING...
ประเทศไทย ล่ามภาษามือ ขาดแคลน

วานนี้ (1 เมษายน) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ครั้งที่ 4/2567 ประจำเดือนเมษายน

 

วราวุธระบุว่า ปัจจุบันพบว่า ‘ล่ามภาษามือ’ ขาดแคลนมาก ไม่เพียงพอกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย จากเดิมที่มีการจดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552-2560 จำนวน 659 คน แต่ปัจจุบันพบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศมีล่ามภาษามืออยู่ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด และยังพบว่าปัจจุบันล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มากที่สุด 3 จังหวัดแรกคือ กรุงเทพฯ 69 คน นนทบุรี 28 คน นครปฐม 16 คน

 

วราวุธกล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดยการจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และการให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ได้แก่ 

 

  1. TTRS Video บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอ และ 2. TTRS Live Chat บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความ รวมถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารเป็นคนกลางในการสื่อสารภาษามือระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้รับปลายทาง (คนหูดี) 

 

วราวุธกล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว (25 กันยายน 2566) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อขอรับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน ได้แก่ 

 

  1. กรณีผู้รับการจดแจ้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน ต้องสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาก่อน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบภาคทฤษฎี 30 ภาคปฏิบัติ 70 ผู้สอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 

 

  1. กรณีการต่ออายุการจดแจ้งของผู้ที่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะ โดยผ่านการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อน และให้มีรายงานผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา หรือเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามหลักสูตร หลักเกณฑ์ และวิธีที่คณะอนุกรรมการกำหนด 

 

วราวุธกล่าวว่า และก่อนหน้านั้น (9 สิงหาคม 2566) กรม พก. ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ เรื่อง กำหนดให้การบริการล่ามภาษามือในบริการอื่นใดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ กรณีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมายที่มีความจำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือหูหนวกและล่ามภาษามือหูดีในการแปลควบคู่กัน ให้จ่ายค่าตอบแทนต่อคน โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว 

 

“คนพิการทางการได้ยินหรือผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือเพื่อการติดต่องานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, การขอทำใบขับขี่หรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ตามกฎหมาย, การจัดทำนิติกรรม สัญญา และการขออนุมัติหรือขออนุญาตเรื่องต่างๆ, การขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การในชั้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยานบุคคล, การฝึกงาน ฝึกสอน สอบวัดผล เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่การจัดบริการในสถาบันการศึกษา”

 

วราวุธกล่าวว่า หากถามว่าต้องมีจำนวนล่ามภาษามือกี่คนจึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ ต้องมีการพิจารณาเสนอขอกรอบอัตราล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดและผลักดันให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน โดยอย่างน้อยหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนควรจะมีล่ามภาษามือไว้สำหรับให้บริการคนพิการ

 

ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมายที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งสิ้น 423,973 คน ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 พบว่า กรุงเทพฯ มี 22,884 คน ภาคกลางและตะวันออกมี 84,350 คน ภาคอีสานมี 162,456 คน ภาคใต้มี 55,020 คน อย่างไรก็ตามทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทยเคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชนไว้ว่าคนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน

 

สำหรับคำถามที่ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะผลักดันอย่างไรเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนล่ามภาษามือนั้น ประกอบด้วย

 

  1. ระยะเร่งด่วน ประสานงานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ 

 

  1. ระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่ามภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการ โดยอาจแบ่งระยะเวลาการเรียนและการปฏิบัติงานจริงเป็นช่วงเวลา และประสานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลน รวมทั้งการมีค่าตอบแทนพิเศษ ให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ 

 

  1. ระยะยาว ให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

 

  1. การพัฒนาร่างภาษามือโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาทดแทน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X