×

Shopping Paradise ที่ยังไปไม่ถึงของสนามบินสุวรรณภูมิ ทำได้หรือไม่ได้ทำ?

19.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวติดอันดับ 9 ของโลก และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้มาเยี่ยมเยือนสูงที่สุด
  • รัฐบาลผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสรวงสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งมาต่อเนื่อง แต่ความหลากหลายของสินค้าปลอดภาษีไทยกลับน้อยกว่าประเทศอื่น
  • ภาคเอกชนเรียกร้องให้ท่าอากาศยานไทยทบทวนข้อกำหนดสัมปทานสัญญาใหม่ที่จะเปิดประมูลในปีนี้ เพื่อความเป็นธรรมและสร้างการแข่งขันที่สมดุล

ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง (Thailand Shopping Paradise) ยังห่างไกลจากความเป็นจริง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมหาศาลและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของสนามบินสุวรรณภูมิกลับไม่เทียบเท่ากับสนามบินชั้นนำของประเทศอื่นในเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น

 

วันนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมดิวตี้ฟรี ผนึกกำลังเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวน ‘กติกา’ ของท่าอากาศยานไทย เรื่องสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากรเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การผลประโยชน์ของชาติที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

ทำไมถึงต้องเปลี่ยน? นี่อาจเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวที่ทำให้ภาพของเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

 

สนามบินสุวรรณภูมิและความ(ไม่)หลากหลายของสินค้าในสายตานักช้อป

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาล ปี 2560 ที่ผ่านมากองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ถึงกว่า 1.8 ล้านล้านบาท เฉพาะรายได้ส่วนของการช้อปปิ้งสูงกว่า 4 แสนล้านบาท

   

 

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจุดหมายปลายทางทั่วโลกในปี 2559 จากการสำรวจข้อมูลของ Mastercard พบว่า นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 32.6 ล้านคน ซึ่งติดอันดับ 9 ของโลก เป็นรองเพียงจีนเท่านั้นสำหรับกลุ่มประเทศเอเชีย แต่เมื่อพิจารณาลงไปในระดับเมืองพบว่า กรุงเทพมหานครมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมากที่สุดอันดับ 1 ของโลกถึงกว่า 21 ล้านคน มากกว่าเมืองท่องเที่ยวตลอดกาลอย่างปารีส ดูไบ หรือนิวยอร์ก เสียอีก

 

 

สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้น แต่จากการจัดอันดับของ Skytrax Airport Ranking สนามบินแห่งชาติของไทยคือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับถูกจัดอันดับอยู่ที่ 38 ในปี 2560 โดยตกลงมาจากอันดับที่ 36 ในปี 2559 ขณะที่สนามบินชางงีที่สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมท่าอากาศยานอื่นในเมืองสำคัญของเอเชียอย่างสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ สนามบินฮ่องกง หรือสนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ยังคงติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อพิจารณาคะแนนโดยรวมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับพบว่าได้เพียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าสนามบินชั้นนำอื่นในเอเชียอย่างชัดเจน

 

จากงานสัมมนา สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (Best Practice) ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้งข้อสังเกตประเด็นดังกล่าวและพิจารณาโอกาสที่น่าจะปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิให้ดีขึ้นได้ในด้านของสินค้าและบริการ โดยเมื่อพิจารณาคะแนนส่วนความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Facilities) สนามบินสุวรรณภูมิได้คะแนน 4.0 ซึ่งน้อยกว่าสนามบินอื่นในเอเชียด้วยกันที่ได้ 4.5 คะแนนขึ้นไป

 

 

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศไทยจะสูงติดอันดับโลกถึงกว่า 32 ล้านคน แต่รายได้จากยอดขายสินค้าปลอดภาษีอากรกลับอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ซึ่งมีนักท่องเที่ยว 16.9 ล้านคน แต่กลับสร้างรายได้จากสินค้าปลอดภาษีอากรได้ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.5 แสนล้านบาท นั่นคือนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปที่เกาหลีใต้น้อยกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว แต่มีรายได้ยอดขายดิวตี้ฟรีกลับมากกว่าเกือบ 6 เท่าตัว

 

ผู้เชี่ยวชาญในงานสัมมนาตั้งคำถามเรื่องความหลากหลายของแบรนด์สินค้าในพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีอากร หรือดิวตี้ฟรี ที่มีไม่เทียบเท่ากับประเทศอื่น รวมทั้งจำนวนร้านค้าระดับราคาปานกลางที่นักท่องเที่ยวมีกำลังจับจ่ายได้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงประเมินว่าธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิดำเนินการได้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมองประเด็นสำคัญคือธุรกิจปลอดภาษีที่ขาดการแข่งขัน จึงทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับประสบการณ์ช้อปปิ้งเทียบเท่ากับสนามบินอื่นในต่างประเทศ และโอกาสในการสร้างรายได้ของสนามบินสุวรรณภูมิในส่วนนี้ก็ยังไม่เต็มศักยภาพนัก

 

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้รับสัมปทานจากสนามบินและยอดขายของสนามบินอื่นๆ ในต่างประเทศพบว่า สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ มีผู้รับสัมปทานทั้งหมด 6 ราย สนามบินฮ่องกงมีผู้รับสัมปทาน 4 ราย และสนามบินชางงี สิงคโปร์ มีผู้รับสัมปทาน 3 ราย ซึ่งทั้ง 3 แห่งใช้สัญญาสัมปทานตามกลุ่มสินค้า (Multiple Concessions by Category) ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทยมีผู้รับสัมปทานเพียง 1 ราย เป็นลักษณะสัมปทานรายใหญ่รายเดียวจัดการทั้งหมด (Master Concession)

 

 

นอกจากนี้ส่วนที่เป็นรายได้จากสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากร ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ของประเทศที่บริหารจัดการโดย บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. พบว่าอัตราการเรียกเก็บที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ 15% ขณะที่อัตราเรียกเก็บที่สนามบินดอนเมืองและภูเก็ตอยู่ที่ 19% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอัตราค่าสัมปทานทั่วโลกเฉลี่ย 30-40% ซึ่งสนามบินชางงี สิงคโปร์ เรียกเก็บถึง 46% หรือสนามบินอินชอน เกาหลีใต้ ก็เรียกเก็บ 40% ถือว่าต้นทุนค่าสัมปทานของผู้ประกอบการไทยนั้นค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในทางกลับกันก็คือรายได้ส่วนที่ท่าอากาศยานไทยจะได้รับด้วย

 

 

ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านค้าปลีกและกฎหมาย รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ส่วนนี้เป็น ‘ช่องว่าง’ สำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงเสียที ไม่เพียงแต่การยกระดับเรื่องรายได้เข้ารัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการแข่งขันที่สมดุลของระบบธุรกิจด้วย

 

ภาคเอกชนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวน TOR ดิวตี้ฟรีใหม่

เมื่อช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา ทอท. ให้ข้อมูลว่าจะเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อทดแทนสัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการปัจจุบันที่จะหมดอายุในปี 2563 นี้ โดยคาดว่าจะเปิดประมูลการร้านค้าดิวตี้ฟรีแบบสัญญาเดียว และให้ผู้ประกอบการนำรายได้จากทุกพื้นที่มาเฉลี่ยกัน


ปัจจุบันมีรายได้จากธุรกิจดิวตี้ฟรี 6 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งกว่า 66% หรือ 4 พันล้านบาทมาจากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะกำหนดอัตราผลตอบแทนสัญญารอบใหม่นี้ที่ 20% จากเดิม 15% คาดว่าจะประกาศเงื่อนไขการประมูล หรือ TOR  ได้ในเดือนมีนาคม และจะทราบผลการประมูลในช่วงกลางปี 2561 นี้


สำหรับการประมูลพื้นที่บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick Up Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิจะมีนโยบายเปิดประมูลแบบสัญญาเดียวเช่นกัน เพราะต้องการให้มีพื้นที่เคาน์เตอร์เดียว ไม่สามารถรองรับผู้ประกอบการทุกรายได้ ต้องใช้เคาน์เตอร์ร่วมกัน (Common Use) ซึ่งคาดว่าจะสามารถประมูลได้ในปี 2562

 

เมื่อประเมินจากข้อมูลที่ผู้บริหาร ทอท. ชี้แจงแล้วค่อนข้างชัดเจนว่า สัญญาสัมปทานที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะมาในรูปแบบ ‘หนังม้วนเดิม’ ซึ่งสามารถคาดเดาทิศทางของผลการประมูลได้ไม่ยากนัก ภาคเอกชนจึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้ข้อมูลว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทยและสมาคมดิวตี้ฟรี วางแผนยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้สร้างความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการแข่งขันประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี โดยขอให้ ทอท. เปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกองค์กรเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เพื่อการแข่งขันที่เท่าเทียมทางธุรกิจบนผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

 

สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนรูปแบบของการสัมปทานจากเดิมเป็นรายใหญ่เพียงรายเดียวให้เป็นการสัมปทานตามกลุ่มสินค้า (Multiple Concessions by Category) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามามาทำตลาดและเกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเสนอให้อายุสัมปทานสั้นลงจาก 10 ปี เป็น 5-7 ปีเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวและนำเสนอสินค้าและบริการที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาด้วย

 

ดร.ฉัตรชัย ประเมินว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนรูปแบบการสัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีตามกลุ่มสินค้าได้จะเกิดการแข่งขันที่สมดุล ซึ่งเป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญการบริหารจัดการสินค้าเฉพาะด้าน ทั้งเครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่น สุรา และบุหรี่ จะนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดกับลูกค้า และทำให้ยอดขายสินค้าดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ดึงให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยก็จะหันกลับมาใช้จ่ายสินค้าจากร้านดิวตี้ฟรีในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

 

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ส่งผ่านไปถึงรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกเกมธุรกิจ ผู้เล่นต่างต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อยืนให้เหนือกว่าคู่แข่งทั้งสิ้น เป็นเรื่องสากลที่ทุกคนยอมรับ หากแต่การแข่งขันควรอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่เป็นธรรม โดยกรรมการที่ควบคุมเกมอย่างเป็นกลาง

 

ไม่มีใครลงแข่งในเกมที่ตัวเองไม่มีวันชนะอย่างเด็ดขาด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising