×

หุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลัง IMF หั่นเป้า GDP โลก, WHO คาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง 10 ล้านราย

โดย SCB WEALTH
25.06.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยรายได้แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2563 เป็นหดตัว 4.9%YoY จากเดิมคาดไว้ที่หดตัว 3%YoY เนื่องด้วยผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มช้ากว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าเช่นกัน

 

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะพุ่งสูงแตะระดับ 10 ล้านรายในสัปดาห์หน้า ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 9.5 ล้านราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย และอินเดีย

 

กระทบอย่างไร:

เมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ปรับตัวลง 2.5%DoD สู่ระดับ 3,050.33 จุด

 

สำหรับวันนี้ (25 มิถุนายน) ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเฉลี่ย 1%DoD นำโดย

  • ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ลดลง 2.27%DoD สู่ระดับ 2,112.37 จุด
  • ตลาดหุ้นสิงคโปร์ (STI) ลดลง 1.46%DoD สู่ระดับ 2590.15 จุด
  • ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (JCI) ลดลง 1.37%DoD สู่ระดับ 4,896.73 จุด
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (NKI) ลดลง 1.22%DoD สู่ระดับ 22,259.79 จุด
  • ตลาดหุ้นไทย (SET) ลดลง 0.57%DoD สู่ระดับ 1,325.88 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้จะสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ตลาดได้คาดหวังว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยืดเยื้อกว่าคาดอาจทำให้ตลาดผิดหวังต่อประเด็นนี้ และมีโอกาสที่จะเกิดการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งสำหรับในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ด้านมูลค่าพื้นฐาน (Valuation) ของตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งปัจจุบันซื้อขายด้วย P/E ปี 2563 ที่ 20.4 เท่า แพงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามความคืบหน้าด้านการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะช่วยลดความกังวลต่อการแพร่ระบาดมากขึ้น รวมถึงต้องติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างความผันผวนต่อทิศทางตลาดหุ้นได้ ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. การลดทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการเงินและการคลังของสหรัฐฯ
  2. ความเสี่ยงของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  3. การประท้วงเรื่องเชื้อชาติในสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น 
  4. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจเข้มข้นขึ้นหากผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมเครตได้คะแนนนำ ซึ่งอาจทำให้ตลาดกลับมากังวลเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X