วานนี้ (6 พฤศจิกายน) พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 38/2567 พร้อมด้วย สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนที่จะต้องร่วมกันดำเนินการ ทั้งผู้บริหารส่วนกลาง, ผู้ตรวจราชการ, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา, ศึกษานิเทศก์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกันในทุกมิติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมหารือในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout เร็วๆ นี้จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาขึ้น เพื่อวางแผนการดำเนินงานหยุดเด็กหลุดระบบการศึกษาเหล่านี้ให้ได้ ทั้งนี้ยังมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภาพรวมในเรื่องนี้ และมีผลสำรวจจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหาข้อมูลจำนวนของเด็กตกหล่น โดยในขณะนี้มีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรืออายุ 6-18 ปี จำนวน 394,039 คน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา, ศึกษานิเทศก์ และทุกหน่วยงานดำเนินงานในส่วนของพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการศาสนา สถานพินิจ และกรมราชทัณฑ์ เพื่อเร่งดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกสังกัด และประสานกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อค้นหาเด็กที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา
สพฐ. ตรวจสอบดูแลและนำเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยกระตุ้นและเน้นย้ำให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ดำเนินการคิกออฟข้อมูลเด็กลงสู่การปฏิบัติ โดยประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการในพื้นที่นำร่องจังหวัดบุรีรัมย์ 18 อำเภอ เพื่อลงพื้นที่ติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และเร่งผลักดัน ‘โครงการพาน้องกลับมาเรียน’ นำการเรียนไปให้น้อง OBEC Zero Dropout และจะรายงานผลให้ทราบต่อไป